ถอดรหัสคดี “ลุงวิศวะยิงโจ๋ม.4” ป้องกันตัว-เกินกว่าเหตุ!?

เหตุการณ์ยิงกันบริเวณตลาดอ่างศิลา ถนนสายอ่างศิลา-สุขุมวิท ต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี เนื่องจากขุ่นเคืองจอดรถขวางกัน โดยกลุ่มวัยรุ่นนั่งในรถตู้ได้กรูไปที่รถยนต์มาสด้า สีบรอนซ์ ทะเบียน ฌต 5079 กรุงเทพมหานคร มี นายสุเทพ โภชนสมบูรณ์ อายุ 50 ปี วิศวกร นั่งอยู่ในรถกับครอบครัว หลังจากนั้นได้มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด กระสุนถูก นายนวพล ผึ่งผาย หรือปอนด์ อายุ 17 ปี ในกลุ่มวัยรุ่น เสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เรื่องราว 2 ฝ่าย ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง

ใครถูก-ใครผิด

เรื่องนี้ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ให้ความเห็น แง่มุมกฎหมายว่า

Advertisement

“อำนาจการตั้งข้อหาเป็นของพนักงานสอบสวน ดังนั้นเวลานี้ยังไม่สามารถรู้ข้อเท็จจริง เราเพียงแต่ได้ข้อมูลบางส่วน หรือคลิปบางตอน แต่พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สอบสวนทั้งหมดในที่เกิดเหตุ หลักฐานต่างๆ จะโดนเก็บเป็นข้อมูล

เป็นการถกเถียงกันว่าเป็นการป้องกันตัวหรือไม่ แน่นอนว่าจะต้องมีการแจ้งข้อหาฆ่าคนตายเนื่องจากปรากฏชัดเจนว่ามีคนตายเกิดขึ้น ประเด็นในเรื่องนี้คือ การยิงปืนจนมีผู้เสียชีวิตเป็นการป้องกันตัวเอง ลูกเมียหรือพ่อแม่หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 ระบุไว้ว่า การป้องกันตัวเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตราย ภยันตรายนั้นจะต้องเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย จึงไม่ใช่ว่าเรากระทำผิดกฎหมาย แต่จะไปยิงป้องกันตัวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างนั้นทำไม่ได้ ฉะนั้นคนจะมาทำการละเมิดต่อเรานั้นต้องกระทำผิดกฎหมาย ทั้งภยันตรายนั้นจะต้องใกล้เข้ามาถึง ถ้าเราไม่ป้องกันตัวจากภยันตรายนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ต่อร่างกาย ต่อเสรีภาพ และทรัพย์สินเราได้ และถ้ากระทำพอสมควรแก่เหตุก็จะถือว่าเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 โดยไม่มีความผิด

ทุกอย่างจะอยู่ที่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน จะต้องเป็นการพิสูจน์ความจริงและต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ที่แล้วมาก็มีตัวอย่างในอดีตตามคำพิพากษาศาลฎีกา คนตายมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าจำเลย เตะต่อยจำเลย และล้มลงห่างไป 1 วา คนตายชักมีด จำเลยจึงใช้ปืนยิงผู้ตาย แต่ผู้ตายยังเดินเข้ามาจำเลยจึงยิงอีกหนึ่งนัด ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าเป็นการป้องกันสมควรแก่เหตุ

Advertisement

การแสดงความคิดเห็นในเรื่องคดีจะต้องไม่เป็นการชี้นำหรือกระทบก้าวก่ายต่อกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการเผยแพร่ประโยชน์ความรู้ว่าทำอย่างไรจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและสมควรแก่เหตุหรือไม่ เรื่องนี้จึงควรเป็นอุทาหรณ์ในเรื่องของการใช้อาวุธปืน” เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ย้ำในช่วงท้าย

ด้าน นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายว่า

“เรื่องนี้ต้องรอกระบวนการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นพนักงานสอบสวน และยังมีกระบวนการในการพิจารณาพยานหลักฐานในชั้นอัยการและหากมีคำสั่งฟ้องคดีในชั้นอัยการก็จะมีกระบวนการในการนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์และแสวงหาความจริงในคดีในชั้นศาลอีก

ข้อเท็จจริงที่รับรู้กันมาจึงเป็นเพียงข้อเท็จจริงรับรู้ผ่านจากสื่อต่างๆ และสังคมออนไลน์ ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ความจริงตามกระบวนการของกฎหมายและยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และยังไม่ผ่านการรับฟังพยานหลักฐานจากคู่กรณีทั้งสองฝ่าย และคู่กรณีแต่ละฝ่ายยังไม่ได้ใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่งตามกฎหมาย ดังนั้นในขณะนี้จึงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าคู่กรณีฝ่ายไหนผิดถูกอย่างไร เท่าที่จะทำได้น่าจะเป็นเพียงการตั้งสมมุติฐานจากข้อเท็จจริงว่า หากมีข้อเท็จจริงเช่นนี้ผลทางกฎหมายจะเป็นเช่นไรมากกว่า

หากตั้งสมมติฐานของข้อเท็จจริงว่า กลุ่มเด็กวัยรุ่นจำนวนหลายคนไปล้อมรถของนายสุเทพ โดยมีลักษณะของการคุกคามให้หวาดกลัว และมีการชกต่อยทำร้ายร่างกายจนนายสุเทพบาดเจ็บได้รับอันตรายแก่กาย ก็อาจจะเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 คือร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม ในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295

ส่วนกรณีนายสุเทพยิงปืนใส่กลุ่มวัยรุ่นจนเป็นเหตุให้นายนวพล ผึ่งผาย ถึงแก่ความตายนั้น จะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 หรือไม่ ต้องพิจารณาว่ามีภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นหรือไม่ มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงแล้วยัง มีความจำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่ และเป็นการกระทำไปโดยสมควรแก่เหตุหรือไม่

หากตั้งสมมุติฐานว่ามีภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นแล้วจากการที่นายสุเทพถูกกลุ่มวัยรุ่นหลายคนรุมทำร้ายร่างกาย และภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เพราะกลุ่มวัยรุ่นหลายคนเข้ามาประชิดตัวและพยายามเปิดประตูรถของนายสุเทพ โดยมีหลานสาวของนายสุเทพนั่งอยู่ในรถด้วย ก็ต้องมาพิจารณาต่อว่ามีความจำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกันหรือไม่ ตามพฤติการณ์และสภาพเหตุการณ์ในขณะนั้นและเวลานั้น หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามตั้งสมมุติฐานไว้ ถือว่านายสุเทพมีความจำเป็นจะใช้สิทธิป้องกันตนเองและบุคคลอื่นคือหลานสาวให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ เพียงแต่ว่าการใช้ปืนยิงใส่กลุ่มวัยรุ่นจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต มีข้อที่ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำโดยป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ต้องมาดูความรุนแรงของภยันตรายที่เกิดขึ้นว่าถึงขนาดต้องใช้ปืนยิงไปที่กลุ่มวัยรุ่นเพื่อป้องกันภยันตรายที่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือว่าในพฤติการณ์และเหตุการณ์ขณะนั้น นายสุเทพสามารถป้องกันภยันตรายที่เกิดขึ้นโดยใช้วิธีการอื่นที่ไม่ต้องใช้ปืนยิงได้ และต้องพิจารณาลักษณะและพฤติการณ์ของการยิงปืนของนายสุเทพด้วย อีกทั้งพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มวัยรุ่นมีอาวุธติดตัวหรือไม่ ถ้าหากมี เป็นอาวุธอะไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วย

หากเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุก็ถือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย นายสุเทพก็ไม่มีความผิด แต่หากเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ก็อาจจะมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 การกระทำเพื่อป้องกันที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำเพื่อป้องกันนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 ให้อำนาจศาลจะลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ และหากการกระทำเพื่อป้องกันนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจหรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้ ก็ต้องมาพิจารณาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในเรื่องการกระทำเพื่อป้องกันของนายสุเทพว่าเป็นอย่างไรตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมกันต่อไป

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวถึงหลักเกณฑ์ ของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายว่า 1.จะต้องมีภยันตรายเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย 2.ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง คือภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นกระชั้นชิดถึงขนาดหากไม่ป้องกันตัวในขณะนั้น ก็อาจจะเกิดอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้ 3.ผู้กระทำจำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายนั้น และสุดท้าย การกระทำเพื่อป้องกันนั้น จะต้องกระทำพอสมควรแก่เหตุ คือการกระทำเพื่อป้องกันนั้น จะต้องได้สัดส่วนกับภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น เช่น ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการถูกตบหน้า จะป้องกันโดยใช้ปืนยิง ถือว่าไม่ได้สัดส่วนกัน แต่ถ้าเป็นการสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาท จะอ้างเหตุป้องกันตัวมิได้ หรือเมื่อภยันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อื่นหมดไปแล้ว จะอ้างเหตุป้องกันไม่ได้

“หากแต่ว่าเรื่องการกล่าวคำหยาบเป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้รู้สึกเจ็บแค้นและโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่ และถึงแม้มีสิทธิป้องกัน แต่ถ้าการป้องกันนั้นเกินสมควรแก่เหตุ ก็ยังคงมีความผิด ยังต้องรับโทษ เพียงแต่อาจได้รับโทษน้อยลง ตามมาตรา 69” ทนายวิญญัติกล่าวทิ้งท้าย

เหล่านี้เป็นแง่มุมกฎหมายว่ากรณีที่เกิดขึ้น เป็นการป้องกันตัวหรือกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

เรื่องนี้คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมตัดสินต่อไป

ที่คาดหวังมากกว่านั้นก็คือ

สังคมควรนำเหตุการณ์นี้ มาเป็นอุทาหรณ์ เตือนใจ ทุกคน ทุกฝ่ายพึงมีสติ แก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่ารูปแบบใด เพื่อระงับยับยั้งความสูญเสีย มิให้เกิดขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image