รู้จัก ภูพระบาท มรดกโลกแห่งล่าสุด พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ จากศาสนาผี สู่ ศาสนาพุทธ
“ภูพระบาท” ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย หลัง ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
ถือเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 และเป็นแหล่งมรดกโลก ลำดับที่ 8 ของไทยด้วย
พร้อมๆกันนี้ยังถือเป็นผลสำเร็จ จากความพยายามถึง 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 ครั้งแรกที่ไทยยื่นเอกสารเกี่ยวกับ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
โดย “ภูพระบาท” ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่าป่าเขือน้ำ ในพื้นที่บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อยู่ห่างจากตัวจังหวัด เป็นระยะทางประมาณ 67 กิโลเมตร
การประกาศขึ้นทะเบียนของ ยูเนสโก ครั้งนี้ ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ซึ่งถือเป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญ ที่ค้นพบร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
ที่สำคัญยังปรากฏวิวัฒนาการทางศาสนาในอุษาคเนย์ จาก “ศาสนาผี” ไปสู่ “ศาสนาพุทธ” ด้วย
โดย “หิน” ที่พบอยู่บน ภูพระบาท ถือเป็นหลักฐานทางมานุษยวิทยา และโบราณคดีที่สำคัญ
เป็น “หินตั้ง” ทางศาสนาผีมากกว่า 3,000 ปี แล้วถูกทำให้เป็น “เสมาหิน” ทางศาสนาพุทธ เมื่อราว 1,500 ปีมาแล้ว
อย่างที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เขียนผ่าน มติชนออนไลน์ ไว้ในเรื่อง หินก่ายฟ้า และอุสา-บารส ที่ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
โดย หินตั้งยุคเริ่มแรกเป็นที่สิงสู่ของผีบรรพชนเรียก หินก่ายฟ้า หมายถึง หินที่ปักดินสูงพาดถึงฟ้า เป็นบันไดให้ผี (เทวดา) กับคนไปมาหากัน
หินตั้ง เป็นชื่อสมมุติขึ้นใหม่ ใช้เรียกวัฒนธรรมหินแบบหนึ่ง ที่มนุษย์สร้างขึ้นในศาสนาผีเมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีทั่วไปในโลก และอุษาคเนย์
ในไทยพบมากในอีสาน และพบบ้างบางแห่งในภาคกลาง เช่น อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ต่อเนื่อง อ.เมืองฯ จ.ตาก เป็นต้น
วัฒนธรรมหินไม่ได้สิ้นสุดเด็ดขาดเมื่อมนุษย์ค้นพบโลหะ แต่ในสำนึกของคนยังมีหินเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย
จากเดิมที่หินตั้งใช้บอกเขตศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี เมื่อศาสนาพุทธเข้ามา หินตั้งก็ถูกทำเป็นเสมา บอกเขตศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ เพราะฉะนั้น หินตั้งและเสมา จึงเป็นสิ่งที่สืบเนื่องกัน
“เสมาหินเหล่านี้ เป็นต้นแบบ ใบเสมา ปักรอบโบสถ์ในทุกๆวันนี้ (ไม่มีในอินเดีย, ลังกา) เป็นงานสร้างสรรค์โดยแท้ๆ เนื้อๆ จากอีสาน” สุจิตต์ อธิบาย
ฉะนั้น บนภูพระบาท จึงถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์-พื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อเนื่องมาหลายพันปีแล้วนั่นเอง