เปิดผลตรวจ เหล็กก่อสร้าง ตึกสตง.ถล่ม เผยมี 2 ไซซ์ ไม่ได้มาตรฐาน

เปิดผลตรวจ เหล็กก่อสร้าง ตึกสตง.ถล่ม เผยมี 2 ไซซ์ ไม่ได้มาตรฐาน

จากกรณีที่ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย นำเหล็กทั้ง 7 ประเภท จำนวน 28 ชิ้น ที่เก็บตัวอย่างจากตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบค่าทางเคมีและทางกลแล้ว โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ตามที่รายงานไปแล้วนั้น

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก 28 เส้น วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังเกิดเหตุถล่มลงมาจากแผ่นดินไหว จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายจำนวนมาก การตรวจสอบครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเหล็กเข้าร่วมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย หรือ นายเติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อํานวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 (สมอ.) แถลงผลการตรวจสอบว่า จากการที่เราดูผลทดสอบเบื้องต้น ที่สถาบันเหล็กทดสอบออกมา และจับเกณฑ์ประเมินที่มาตรฐานกำหนด เราพบว่ามีทั้งที่เป็นไปตามมาตรฐาน และ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แต่เราต้องมีการเข้าพื้นที่ เพื่อเก็บตัวอย่างมาเพิ่มเติมและทดสอบเพิ่ม เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลในเร็ว ๆ นี้

ADVERTISMENT

เมื่อถามว่า เหล็กที่ได้มาตรฐาน กับ เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน แบบไหนมีเยอะกว่ากัน นายนนทิชัย กล่าวว่า ที่เป็นไปตามมาตรฐาน มีจำนวนมากกว่าเยอะ

ผู้สื่อข่าว ถามอีกว่า สัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ของเหล็กทั้งหมด 28 เส้น ที่ไม่ได้มาตรฐานมีประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ นายนนทิชัย กล่าวว่า ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ผู้สื่อข่าว จึงได้ถามย้ำว่า ประมาณกี่เส้น นายนนทิชัย กล่าวว่า 2 ไซซ์

ADVERTISMENT

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการตรวจสอบตัวอย่างเหล็กของตึก สตง. ที่ถล่ม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ทั้งหมด 7 ประเภท จำนวน 28 ชิ้นซึ่งผลการตรวจสอบพบว่ามีชิ้นที่ไม่ได้มาตรฐาน ในเหล็กที่มีขนาด 32 มม. และ 20 มม.

แต่ที่เหลือส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐานทั้งทางเคมีและทางกล อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีเหล็กบางรายการตกเกรด เช่น มีมวลต่อเมตรที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหมายถึงนำหนักเหล็กหายไป เช่น เหล็ก 1 กก.จะต้องมีน้ำหนัก 10 กก. แต่พบว่ามีน้ำหนักแค่ 9.5 กก. เท่านั้น ซึ่งเรียกว่าเหล็กเบา
“เราไม่สามารถบอกได้ทั้งหมดว่าเหล็กตัวไหนที่ไม่ผ่านมาตรฐานเพราะมันจะมีผลกระทบต่อหน้างานที่กำลังค้นหาผู้สูญหายอยู่ที่ตึก สตง. ถล่ม เราจึงไม่กล่าวหรือบ่งชี้จนกว่าเราจะตรวจสอบและวิเคราะห์เพิ่มเติม และเราต้องเก็บตัวอย่างเพิ่มเพราะ้หล็กที่นำมาวันนี้เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น”
ทั้งนี้ เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน หากนำไปใช้งานก่อสร้างจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าอาคารจะพัง เพราะความจริงแล้วการเกิดเหตุตึกถล่มจะมีหลายปัจจัยทั้งโครงสร้างและแวดล้อมอื่นๆ มาประกอบด้วย

ขณะที่ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการนำตัวอย่างเหล็กเส้น จำนวน 28 ท่อน ที่เก็บจากตึกสตง.ถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคมจากเหตุแผ่นดินไหวมาตรวจสอบคุณภาพ ที่สถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่ ใช้เวลาการตรวจสอบเหล็กทุกท่อนมากกว่า 4 ชั่วโมง ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบคุณภาพเหล็กทุกท่อน โดยเป็นไปอย่างโปร่งใส มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ต่อเนื่อง

โดยการตรวจสอบพบว่า เหล็กที่นำมาตรวจสอบ 28 ท่อน 3 ประเภท 7 ไซส์ ได้มาตรฐาน 15 ท่อน 5 ไซส์ ไม่ได้มาตรฐาน 13 ท่อน 2 ไซส์ คือ ไซส์ 20 มิลลิเมตร และ32 มิลลิเมตร ซึ่งทั้ง 2 ไซส์ มาจากบริษัทเดียวกัน ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กแห่งหนึ่ง ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้สั่งปิดไปในช่วงเดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

ทั้งนี้เหล็กที่นำมาตรวจสอบ เป็นเพียงการสุ่มตรวจเข้ามา หลังจากนี้ทางสมอ.จะกลับไปนำตัวอย่างเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อให้มีหลักฐานเพียงพอ ซึ่งเวลาตรวจสอบ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงบริษัทใด บริษัทหนึ่งเท่านั้น เป็นการสุ่มตรวจจากซากตึกที่ถล่ม ส่วนเหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบครั้งนี้ จะไปดูว่า เป็นเหล็กที่ผลิตระหว่างที่เราสั่งปิดหรือไม่ อย่างไร เพราะเราสั่งปิดไปประมาณ 4 เดือน แต่ดูจากเหล็กน่าจะประมาณ 5 เดือน ก็ต้องตรวจสอบเชิงลึกกันอีกครั้ง หากพบว่า มีการลักลอบนำเหล็กไม่ได้มาตรฐานออกมาใช้ ก็จะโดนดำเนินคดีต่อไป จากปัจจุบันนนี้ ทางบริษัทอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว แม้ว่า เหล็กที่เราตรวจสอบ จะพบว่า ไม่ได้มาตรฐานบางส่วน แต่ยังไม่สวามารถสรุปได้ว่า เป็นสาเหตุหลักในการถล่ม

โดยเหล็กเส้นที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ และนำมาตรวจสอบคุณภาพมีจำนวน 28 เส้น มีทั้งหมด 7 ประเภท 7 ไซส์ ประกอบด้วย เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น , เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น , เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น , เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น , เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น จาก 3 บริษัท คือ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีนที่โดนสั่งปิดเดือนธันวาคม 2567) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS ( เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย) , เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น , ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น

โดยเวลานี้ยังไม่สามารถปรักปรำทั้ง 3 บริษัทได้ จนกว่าผลการตรวจสอบจะออกมาอย่างเป็นทางการ และให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยืนยันอีกครั้งว่า ผลของเหล็กนั้นเป็นบวกหรือลบ

ทั้งนี้ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเจ้าหน้าที่จะนำเหล็กทุกท่อน ที่เก็บมาจากจุดเกิดเหตุ มาตัดเป็นท่อนขนาด 1 เซนติเมตร จากนั้นนำไปตีแบน ก่อนจะนำไปวิเคราะห์หาค่าองค์ประกอบทางเคมีในเหล็กส่วนที่สอง เจ้าหน้าที่จะนำเหล็กเส้นมาวัดขนาดความยาว และชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำมาคำนวณค่ามวลต่อเมตรว่า เป็นไปตามมาตรฐานมอก.หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image