ผู้เชี่ยวชาญ เผย ตึกสตง.ใหม่ทุบ 2 สถิติโลก เป็น ‘อาคารสูงที่สุด’ ที่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว และอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุด
กรณีแผ่นดินไหวจากจุดศูนย์กลางเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สะเทือนถึงไทย เขย่าตึก สตง.แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ถล่มลงมาส่งผลให้มีแรงงานเสียชีวิต บาดเจ็บ และยังสูญหายอีกจำนวนมากนั้น
ในทางหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างตึกของรัฐ ที่ใช้งบประมาณในโครงการสร้างอาคารดังกล่าวกว่า 2 พันล้านบาท ตลอดจนระบบเตือนภัยพิบัติ ที่มีการพูดคุยมานานแต่ยังไม่นำไปสู่การใช้จริงนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เปิดเผยในกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “สังคายนาระบบเตือนภัย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า
เมื่อดูที่สภาพดินของกรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษแอ่งดินอ่อนขนาดยักษ์ที่สามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่าตัว เช่น แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นคลื่นความถี่ต่ำ สั่นจังหวะช้าๆ จะไม่ค่อยส่งผลต่ออาคารขนาดเล็ก เพราะจังหวะการโยกไม่ตรงกัน แต่อาคารสูงที่โยกตัวเข้าจังหวะเข้ากับพื้นดินในจังหวะช้าๆ จังหวะตรงกันก็จะขยายความรุนแรงและส่งผลกระทบรุนแรงกับอาคารสูงมาก ซึ่งผลการสำรวจตามหลังก็ชี้ชัดว่า อาคารเล็กไม่มีผลกระทบเท่าไร แต่อาคารสูงค่อนข้างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า และมีอาคารถล่มร้ายแรงคือ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
“มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศติดต่อผมมา พร้อมให้ข้อมูลน่าสนใจว่า นี่เป็นแผ่นดินไหวที่ไกลที่สุดในโลก ที่ทำให้อาคารถล่ม และยังเป็นอาคารที่สูงที่สุดถล่ม นับเป็นสถิติโลกที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจ” ศ.เป็นหนึ่งกล่าว
อ่านต่อฉบับเต็ม : นักวิชาการชี้ 3 รอยเลื่อนกระทบไทย จี้สังคายนา ‘ระบบเตือนภัย’ เซลล์บรอดแคสต์ต้องใช้ได้จริง