ตรรกะอัปยศ! ป้ามลชี้วาทกรรม “เด็กยินยอมค้าประเวณี” ข้ออ้างแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศของผู้ใหญ่

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ถนนพญาไท กรุงเทพฯ มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับมูลนิธิพิทักษ์สตรี และองค์กรอ็อกแฟม (OXFAM) จัดเสวนา วาทกรรมผู้ใหญ่ ‘เด็กยินยอม’ ข้ออ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีค้าประเวณีเด็กใน จ.แม่ฮ่องสอน ขณะนี้

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า หลังจากเครือข่ายได้หยิบยกกรณีดังกล่าวมาจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมเลี้ยงดูปูเสื่อ พร้อมออกแถลงการณ์ 4 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือขอให้ย้ายผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอนที่เป็นผู้มีอำนาจและถูกกล่าวหาให้ออกจากพื้นที่ รวมถึงไปยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษให้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เพื่อทำให้การตรวจสอบคดีดังกล่าวไม่อยู่แค่ในพื้นที่ และปราศจากระบบอุปถัมภ์เจ้าหน้าที่รัฐช่วยเหลือกันเองนั้น ปรากฏว่าขณะนี้เกิดคำว่า เด็กสมัครใจหรือเด็กยินยอมในคดีดังกล่าว เพื่อตัดวงจรในการสอบสวนที่จะไม่ต้องตามหาขบวนการจัดหาและให้เกิดความชอบธรรมของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นความคิดของผู้ใหญ่ที่แสวงหาประโยชน์กับเด็ก ต่างจากคนที่มีความเป็นผู้ใหญ่มากพอที่ต้องปกป้องคุ้มครองเด็ก เมื่อพบเห็นกรณีอย่างนี้ทำอย่างไรจะช่วยเด็กออกมา ทำไมเด็กถึงออกมาขายประเวณี ไม่ใช่ไปสนับสนุนให้เด็กค้าประเวณีถึงแม้เด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

“เหตุการณ์นี้สะท้อนว่าระบบคิดของสังคมไม่ได้เดินทางไปไหน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม อย่างกรณีก่อนหน้านี้ที่ นายเฉลิม พรหมเลิศ อดีตรองประธานวุฒิสภา ไปซื้อบริการทางเพศเด็กม.ต้น ในโรมแรมแห่งหนึ่งในจ.ปทุมธานี จนมีข่าวใหญ่โต ช่วงนั้นกำลังประชุมสภาฯกัน ก็มีการโหวตคะแนนสูงมากให้คุ้มครองนายเฉลิมจนกว่าการประชุมสภาฯจะจบลง เครือข่ายผู้หญิงและเด็กจึงไปยื่นหนังสือที่สภาฯ แต่ก็มีคำพูดจากจากสมาชิกสภาฯที่ออกมารับหนังสือว่า คุณทิชา จริงๆเด็กไปเปิดโรงแรมก่อนคุณเฉลิมไปอีก ซึ่งเป็นการบอกว่าเด็กสมัครใจเอง ต้องให้ความเป็นธรรมกับนายเฉลิมด้วย นี่ถือเป็นตรรกะที่อัปยศ” นางทิชากล่าวและว่า

นางทิชา กล่าวอีกว่า จากนี้ เครือข่ายคิดไปร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบผู้บังคับใช้กฎหมายที่เพิกเฉยต่อกรณีดังกล่าว เพื่อให้เป็นบทเรียนแก่ผู้ที่จะมาทำงานต่อไป ไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์ เบื้องต้นขอหารือในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะร้องเพิ่มเติมอะไรอีก รวมถึงไปเสนอฝ่ายนิติบัญญัติ อาทิ สนช. สปช. ที่จะแก้ปัญหาระยะยาว ในการดูทุกซอกมุมว่าจุดอ่อนที่มำให้เกิดกรณีอย่างนี้ มันเพราะกฎหมายที่เขียนมาแล้วไม่ครอบคลุมหรือเพราะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ยาแรงเพื่อไม่ให้ใครกล้าทำอีก และอาจทำให้ผู้ว่าฯหรือผู้กำกับที่กระทำผิดติดคุกกันบ้าง เพื่อไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวเสียของและเกิดขึ้นอีก

Advertisement
ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล

นางศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายเอสอาร์ กล่าวว่า กฎหมายทั่วโลกพยายามปกป้องเด็ก เพราะเห็นว่าเด็กมีวุฒิภาวะน้อย อาจถูกแสวงหาประโยชน์ได้ ฉะนั้นกรณีค้าประเวณี แม้เด็กจะยินยอมแต่ก็ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งนี้ แม้กฎหมายไทยจะปกป้องคุ้มครองได้ครบถ้วน แต่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายต้องมีทัศนคติที่เปิดด้วย อย่างปัจจุบันเวลาเด็กให้การว่ายินยอมมาค้าประเวณี พนักงานสอบสวนก็ไม่อยากได้ข้อเท็จจริงเพิ่มแล้ว ทั้งที่ควรลงลึกเพราะอะไรเด็กถึงยินยอม มีขบวนการจัดหาหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการตีความกฎหมายของผู้บังคับใช้ตีความจนบิดเบือน อย่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 6 ค้าประเวณีในสถานประกอบการค้าประเวณี กลายเป็นว่าการค้าประเวณีนอกสถานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากมาตราดังกล่าว ซึ่งคงต้องไปปรับแก้กฎหมายที่ล้าหลังและตีความเยอะ

“ในแง่กฎหมายคำว่ายินยอมจะทำให้คดีอ่อนลง ขณะที่กระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่เมื่อยินยอม ก็จะไม่ไปหาสาเหตุว่าทำไมถึงยินยอม เหล่านี้ขบวนการค้าประเวณีเขารู้กฎหมายและเดินนำหน้าเราตลอด แต่ก็ใช่ว่าเราจะนำหน้าเขาไม่ได้ หากในชั้นสอบสวนตั้งใจหาข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน เค้นความจริงออกมาให้ได้” นางศิริวรรณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image