กทม.ตั้งศูนย์บัญชาการแก้น้ำท่วม ‘จุดอ่อน-พื้นที่ซ้ำซาก’

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ภายหลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ทำให้ระยะนี้ กทม.ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จำเป็นต้องสั่งการให้ 50 สำนักงานเขต ดำเนินตามแผนรับมือน้ำท่วมเพิ่มเติม คือ เมื่อเกิดฝนตกในแต่ละพื้นที่ให้สำนักงานเขตลงพื้นที่ทันที ไม่เพียงแต่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมบนถนนสายหลักเท่านั้น ต้องเฝ้าระวังพื้นที่น้ำท่วมตามตรอกซอยซอย ภายในพื้นที่ของหมู่บ้านจัดสรร หรือหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำด้วย เนื่องจากได้รับรายงานว่า สำนักงานเขตมุ่งให้ความสนใจการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลักอย่างเดียว ในเวลาต่อมาได้รับแจ้งว่าตามพื้นที่ตรอกซอยยังคงมีประสบปัญหาน้ำรอระบายในหลายจุด อาทิ ซอยท่าข้าม เขตบางขุนเทียน เป็นต้น ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาน้ำท่วมในตรอกซอยได้สั่งการให้สำนักงานเขตแต่ละเขต แจ้งมายังผู้บริหารโดยตรง เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ พร้อมรายงานผลให้ทราบทันทีหลังเข้าแก้ไขปัญหาแล้ว

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของระดับแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อยู่ในระดับปกติ เช่นเดียวกับระดับน้ำในคลองต่างๆ ยกเว้นคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าวที่น้ำในคลองค่อนข้างมากจนเกือบเต็มคลอง ทำให้ กทม.ต้องเร่งดำเนินการพร่องน้ำออกจากคลองให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าวอาจใช้ระยะเวลาพร่องน้ำค่อนข้างช้าถึง 3 วัน เนื่องจากติดปัญหาตามแนวคูคลองและบ้านรุกล้ำ อย่างไรก็ตาม กทม.โดยสำนักการระบายน้ำ ได้เฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยจัดเจ้าหน้าที่ผลัดเวรประจำศูนย์บัญชาการตลอด 24 ชั่วโมง และปัจจุบันอยู่ระหว่างเฝ้าติดตามพายุขนุน ว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ หรือไม่ โดยจะทราบได้ต่อเมื่อพายุกำลังเคลื่อนตัวเข้ามายังพื้นที่แล้ว

“ขณะนี้กรุงเทพฯ ยังมีร่องความกดอากาศต่ำเป็นสิ่งที่กำลังเฝ้าติดตาม หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาว หากมีอากาศหนาวลงมาร่องความกดอากาศดังกล่าวจะเปลี่ยนจากฝนเป็นหนาว แต่หากอากาศหนาวไม่ลงมา ฝนก็จะตกชุกเรื่อยๆ เป็นปกติของทุกปี แต่ปีนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและคาดการณ์ค่อนข้างยาก” นายจักกพันธุ์ กล่าวและว่า หลังเกิดน้ำท่วม 55 จุด บางจุดทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ในกรณีประชาชนได้รับความเสียหายจากเหตุวาตภัยหรืออุทกภัยสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเพื่อเข้าตรวจสอบ ก่อนดำเนินการขั้นตอนในการชดใช้ความเสียหาย ในส่วนความเสียหายของ กทม.ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีถนนหนทางหรือทรัพย์สินของ กทม.ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเกิดน้ำท่วมในระยะเวลา 5-6 ชั่วโมง หากน้ำท่วมเป็นวันหรือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก กทม.ถึงจะสามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ ก่อนประเมินทรัพย์สินตามขั้นตามเพื่อซ่อมแซมต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า กทม.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากหรือจุดอ่อนน้ำท่วมอย่างไร นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า อุโมงค์ระบายน้ำของกทม.ทั้ง 8 แห่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้มาก แต่เดิมหากปริมาณฝนหากสูงสุดถึงขนาดนี้น้ำจะต้องท่วมเป็นเวลา 3-4 วัน แต่ขณะนี้ กทม.ก็สามารถระบายน้ำได้ เช่น จุดอ่อนน้ำท่วมถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าศาลอาญาและถนนวิภาวดีรังสิต พบว่าอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อช่วยเร่งระบายน้ำพื้นที่ดังกล่าวได้

Advertisement

“กทม.เป็นห่วงทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากฝนที่ตกลงมามีลักษณะกระจายปกคลุมทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจุดอ่อนน้ำท่วม กทม.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพโดยให้สำนักงานเขตและสำนักการระบายน้ำติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมทุกพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เพื่อรายงานและเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที รวมถึงติดตามสถานการณ์ฝนในช่วงเย็นของวันที่ 15 ตุลาคมนี้่ ที่คาดว่าจะมีฝนตกลงมาร้อยละ 70 ของพื้นที่ด้วย” นายจักกพันธุ์ กล่าว
////////////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image