สิทธิทำฟันประกันสังคม มองจุดดี-ปรับจุดด้อย

แฟ้มภาพ

“จากนี้จะมอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้ และอาจทดลองในคลินิกนำร่องก่อน คาดว่าใช้เวลา 3 เดือน ได้ข้อสรุป…”  โกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แสดงความคิดเห็นหลังจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ประกันตนคนทำงาน (คปค.) ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เรียกร้องให้มีการปฏิรูป “สิทธิทันตกรรม” ให้กับผู้ประกันตน

ปัจจุบัน สปส.ให้วงเงินค่าบริการทำฟันของผู้ประกันตนเพียง 600 บาทต่อปี โดยผู้ประกันตนสามารถไปใช้บริการในคลินิกหรือสถานพยาบาลใดก็ได้ แต่มีปัญหาตรงที่ผู้ใช้สิทธิในส่วนนี้ต้องสำรองจ่าย แล้วนำใบเสร็จไปเบิกจาก สปส. ซึ่งมีปัญหาทั้งขั้นตอนที่ยุ่งยาก เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จนกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงบริการดังกล่าว

ไม่แปลกที่กลุ่มผู้ประกันตนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องออกมาเรียกร้องจนเกิดเป็นแคมเปญรวบรวมรายชื่อเรียกร้อง “ประกันสังคมต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมให้เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ” ผ่าน www.change.org เพื่อนำรายชื่อดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม พิจารณา

หลายคนสงสัยว่า เหตุใดสิทธิทันตกรรมประกันสังคมยังไม่เท่าเทียมกับสิทธิอื่นๆ ทั้งๆ ที่การเปิดให้ผู้ประกันตนสามารถใช้บริการในคลินิกเอกชนได้

Advertisement

น่าจะเป็นจุดแข็งกว่าสิทธิอื่นๆ

ทั้งนี้ เครือข่ายสุขภาพและเครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข ได้มีการหารือในเวทีพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมในประกันสังคมถึง 2 ครั้งคือ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 9 มีนาคม 2559 โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยทันตแพทยสภา ชมรมทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชน กรรมการประกันสังคม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)

จากการหารือได้ข้อสรุปว่า ขอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมให้เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ โดย ณัฐกานต์ กิจประสงค์

Advertisement

ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพบอกว่า หากพิจารณาจะพบว่า สิทธิอื่นๆ ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือแม้แต่แรงงานต่างด้าวมีสิทธิทันตกรรมตามความเป็นจริง กล่าวคือ หากไปพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟัน แต่ปรากฏว่าจำเป็นต้องถอนฟันด้วย ขณะที่การอุดฟันต้องอุด 2 ด้าน วงเงินทั้งหมดย่อมเกิน 600 บาท ซึ่งในสิทธิอื่นสามารถทำได้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องวงเงิน แต่พิจารณาจากความเป็นจริง ขณะที่ประกันสังคมหากเกินกว่านั้น ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเอง และนี่คือสาเหตุที่ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างรายวันกังวล และไม่อยากไปพบทันตแพทย์ เนื่องจากเกรงว่าจะมีอาการมากกว่าวงเงินแค่ 600 บาท หนำซ้ำระบบการเบิกจ่ายยังลำบาก ต้องเดินทางไปเองอีก จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลแค่ลูกจ้าง

รายวัน แต่ผู้ประกันตนแทบทุกคนก็ประสบปัญหา เพียงแต่บางรายไม่ไปเบิกเงิน เพราะคิดว่าเสียเวลา

จากข้อมูลปี 2557 จำนวนผู้ประกันตน 11,154,542 คน มีผู้ไปใช้บริการเพียง 1,769,540 คน แบ่งการใช้บริการเป็น 4 กรณี คือ 1.กรณีอุดฟัน ใช้บริการจำนวน 668,335 คน ราคาอุดฟันตามประกาศกรมบัญชีกลาง 430 บาท ขณะที่ราคาเอกชน 450 บาท 2.กรณีถอนฟัน ใช้บริการจำนวน 473,719 คน ราคาถอนฟันตามประกาศกรมบัญชีกลาง 170 บาท ขณะที่ราคาเอกชน 300 บาท 3.กรณีขูดหินปูน ใช้บริการจำนวน 586,984 คน ราคาขูดหินปูนตามประกาศกรมบัญชีกลาง 250 บาท ขณะที่ราคาเอกชน 500 บาท 4.กรณีใส่ฟันปลอม ใช้บริการจำนวน 40,502 คน ราคาฟันปลอมตามประกาศกรมบัญชีกลาง 1,500 บาท แต่ราคาเอกชน 1,700 บาท

หากพิจารณาสิทธิประโยชน์เทียบกับสิทธิสุขภาพอื่นๆ ข้อเท็จจริง สิทธิประกันสังคม สามารถรับบริการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ศัลยศาสตร์ในช่องปากหรือ ผ่าฟันคุด และใส่ฟันปลอมที่ใช้ฐานอะคริลิค ขณะที่

สิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ได้สิทธิเหมือนประกันสังคม มีเพิ่มบริการ เกลารากฟัน รักษาโรคเหงือก ปริทันต์ รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม เคลือบฟลูออไรต์ในเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และเคลือบหลุมร่องฟันเฉพาะอายุไม่เกิน 15 ปี ส่วนสิทธิข้าราชการ ได้เหมือนสิทธิประกันสังคมเช่นกัน มีเพิ่มรักษาโพรงประสาทฟันแท้ แต่ไม่มีเคลือบฟลูออไรต์ และเคลือบหลุมร่องฟันเหมือนสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงสิทธิประโยชน์ทันตกรรมตามความจำเป็นแล้วจะเห็นว่าประกันสังคมไม่ได้ด้อยไปกว่าสิทธิอื่น แต่จุดอ่อนคือการเบิกจ่ายยังเป็นอุปสรรค โดยเบิกได้ไม่เกินปีละ 600 บาท ในขณะที่ความเป็นจริงราคาการบริการต่างๆ สูงขึ้น ขณะที่ 2 สิทธิไม่ได้จำกัด เช่น การใส่ฟันปลอม สำหรับผู้มีสิทธิประกันสังคมจะเบิกได้ 1 ชิ้น บนหรือล่าง แต่หากมีความจำเป็นทั้ง 2 ชิ้นก็ไม่ได้ ต้องจ่ายเอง

ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์โรงพยาบาลลำลูกกา จ.ปทุมธานี ในฐานะประธานเครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข บอกว่า จากจุดแข็งของประกันสังคมที่ให้บริการในคลินิกเอกชนได้ ยังควรจะคงไว้ แต่ต้องมาพัฒนาและปรับปรุงในเรื่องระบบการเบิกจ่าย เมื่อการสำรองจ่ายเป็นอุปสรรค ก็ควรต้องมีการปรับเปลี่ยน แต่การจะดึงเอกชนเข้าร่วมอาจจะไม่ง่าย เรื่องนี้จึงต้องมีการหารือ และกำหนดราคากลางที่รับได้ทั้งสองฝ่าย จากนั้นก็อาจดำเนินการในกลุ่มคลินิกนำร่องก่อน เหมือนอย่างกรณีสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งมีปัญหาผู้ป่วยบัตรทองเข้าไม่ถึงการบริการทันตกรรม แม้จะมีสิทธิประโยชน์มากมาย นั่นเพราะการรับบริการต้องไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งต้องรอคิวนาน แต่เรื่องนี้ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และคลินิกเอกชนในเครือข่าย ทำข้อตกลงราคากลางร่วมกันในการให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทอง

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. ในฐานะเลขาธิการทันตแพทยสภา ให้ข้อมูลว่าปี 2557 ผู้มีสิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ มีประมาณ 3,957,457 คน ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงบริการทันตกรรมน้อยที่สุดไม่ถึงร้อยละ 5 ขณะที่จังหวัดอื่นๆ เข้าถึงประมาณร้อยละ 10-20 เนื่องจากกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลรัฐตามสิทธิค่อนข้างน้อย จึงเกิดปัญหาการรอคิว ดังนั้น จึงได้ร่วมกับคลินิกเอกชนและกำหนดราคากลางขึ้น เบื้องต้นมีคลินิกเข้าร่วมประมาณ 153 แห่ง โดยผู้มีสิทธิบัตรทองไม่ต้องสำรองจ่าย แต่คลินิกจะมาเบิกจ่ายกับ สปสช.เอง ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาให้บริการเกินจริง เพราะ สปสช.ได้ร่วมกับสำนักอนามัย กทม.ในการให้ศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นผู้ตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปาก ก่อนส่งต่อเพื่อเข้ารับบริการทันตกรรมในคลินิกเอกชนที่เข้าร่วม ประกอบกับ สปสช.มีการตรวจประเมินการทำงานทุกๆ ปี

ว่าแต่…โมเดลนี้จะนำไปใช้กับผู้ประกันตนหรือไม่ ยังต้องติดตาม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image