ห่วงนกพิราบล้นเมือง ทั่วปท.ไม่ต่ำ 10 ล้านตัว สกปรก-นำโรค-ดื้อด้าน-ตายยาก แนะจับกิน

วันที่ 8 มิถุนายน นายเกรียงศักดิ์ หามะฤทธิ์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการกระทรวงเกษตร เปิดเผยว่า นกพิราบเป็นสัตว์ปีกอีกชนิดหนึ่งที่มีสถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะมีจำนวนประชากรมากเกินไป คาดว่า เวลานี้มีนกพิราบที่อาศัยอยู่ในเมืองมากกว่า 10 ล้านตัวทั่วประเทศ มากกว่าหนู แต่ความสกปรกนำโรคมีมากพอกัน โดยที่หนูมาทางบก ส่วนนกพิราบนั้นจะมาทางอากาศ ความสกปรกของนกพิราบคือการไปขับถ่ายไว้ตามซอกตึก มุมตึก บนหลังคาบ้าน หลังคาโบสถ์ ระเบียงบ้าน มูลของนกพิราบมีทั้งเชื้อรา และสปอร์ ที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบได้ รวบทั้งมีกรดบางอย่างที่ทำให้สีอาคารบ้านเรือน หรือโบราณสถานได้รับความเสียหาย เวลานี้มีสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย และความเดือดร้อน รำคาญ จากการต้องคอยแก้ปัญหาที่เกิดจากมูลนกพิราบจำนวนมาก

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากความสกปรก ความเสียหายที่นกพิราบสร้างไว้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสีอีกคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง การลงไปโฉบกินข้าวที่บริเวณลานตากข้าวหน้าโรงสี โดยลานตากข้าวบางแห่งได้แต่ยืนมองตาปริบๆ โดยที่ นกพิราบ 1 ตัวจะกินข้าวเปลือกวันละ 30 กรัม บางจังหวัด เราคาดว่าน่าจะจะมีนกพิราบไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัว แสดงว่า ข้าวต้องถูกกินไปราว 1 หมื่นตัน ต่อปี ขณะที่ลานตกข้าวบางแห่งแทบจะมองไม่เห็นเมล็ดข้าวเลย มีแต่นกพิราบยืนกินข้าวเต็มทั้งลาน

“เมื่อก่อนนี้เคยมีธุรกิจเลี้ยงเหยี่ยว เพื่อมาไล่กินนกพิราบ แต่ปรากฏว่าเหยี่ยวที่เลี้ยงนั้นควบคุมไม่ได้ ทำงานได้แค่ 1-2 วันแรก มันก็หยุดไม่ยอมจับอีกรวมทั้งค่าจ้างเหยี่ยวก็แพง โดยคิดเหมาจ่ายรายปี ปีละไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านบาทในกรณีโรงสีหรือไซโรขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเหยี่ยวหุ่นยนต์ หรือโดรนบินขับไล่แทน แต่ก็ได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับในพื้นที่การเกษตร ก็ถูกนกพิราบพวกนี้เข้าไปกินเมล็ดข้าวเช่นกัน ยังไม่มีใครแก้ปัญหาอะไรได้ชัดเจน จนเกษตรกรหลายคนต้องปลูกข้าวเผื่อนกพิราบไปเลย เช่น ตั้งเป้าว่าจะได้ข้าว 20 ถัง ก็ปลูกเพื่อให้ได้ข้าว 23 ถัง อีก 3 ถัง คือให้นกกิน เรียกได้ว่า ในกระบวนการปลูกข้าวนั้นแทบจะมีนกพิราบอยู่ทุกกระบวนการ ตั้งแต่ในนา ถึงตอนเอาข้าวไปตาก แล้วยังมีที่สี่แยกไฟแดง กลางเมืองที่ จ.นครสวรรค์ รถขนข้าวติดไฟแดงก่อนข้ามแม่น้ำ ตรงบริเวณคอสะพานมีนกพิราบฝูงใหญ่มาดักรอกินข้าว ตอนรถติดไฟแดง พอไฟเขียวก็ออกมาเกาะสะพานใหม่ รอกินคันต่อไป เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้มีนกพิราบเกาะอยู่บริเวณดังกล่าวราวร้อยกว่าตัว ตอนนี้ ระยะทางไม่ต่ำกว่า 1 กิโลเมตร นกพิราบเกาะเต็มไปหมด “นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นกพิราบเป็นนกฝูงที่ฉลาดและปรับตัวเก่งมาก การหาแหล่งอาหารก็จะมีการวางแผนจากฝูงเป็นอย่างดี โดยให้นกตัวที่บินเก่ง แข็งแกร่งที่สุด 2 ตัว บินออกลาดตระเวนหาแหล่งก่อน เมื่อเจอ นก 2 ตัวนี้ก็จะกลับฝูงมาบอก ที่ไม่ไปพร้อมกันทั้งหมด เพราะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน นอกจากนี้ยังป็นสัตว์ที่มีระบบความจำเส้นทางดีเยี่ยม สมัยก่อนจึงเอามาทำนกสื่อสาร เคยมีการทดลองเอานกพิราบที่ไม่เคยผ่านการฝึกมาก่อน จากกรุงเทพ ไปไว้ที่จ.ระนอง และปล่อยจาก จ.ระยอง นกสามารถบินกลับกรุงเทพที่บ้านหลังเดิม ใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ดังนั้นจึงเลิกคิดไปเลยหากจะแก้ปัญหานกพิราบโดยการจับจากจุดนี้ไปปล่อยยังอีกจุด เพราะเป็นการเอาปัญหาจากที่นี่ไปสร้างปัญหาให้ที่อื่นอีก ที่สำคัญ ในที่สุดแล้วมันก็จะบินกลับมาอยู่ที่เดิม

เมื่อถามว่า เป็นเช่นนี้แล้ว ควรจะทำอย่างไร เพื่อเป็นการแก้ปัญหา นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า โดยอายุขัยของนกพิราบแล้ว มีประมาณ 5 ปี ต้องตั้งเป้าระยะการทำงานไว้ที่ 5 ปี คือ ไม่มีการฆ่าหรือทำลายนกที่มีอยู่ แต่ก็ต้องไม่ให้เกิดใหม่ ทำหมันโดยให้กินฮอร์โมนที่ไม่สามารถให้มีลูกได้ ภายในระยะเวลา 5 ปี นกจะเหลือครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ หากไม่ทำอะไรเลย ประชากรนกพิราบก็จะเพิ่มมากขึ้นอีก มากขึ้นอีกเรื่อยๆเราเจอเชื้อโรคจากหนูแล้ว ยังต้องเจอเชื้อโรคจากนกพิราบอีก ที่สำคัญคือนกพิราบเวลานี้แทบจะไม่มีศัตรูในธรรมชาติเลย มันฮึกเหิมอยู่ในสังคมเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

“หลายประเทศเขาก็กินนกพิราบกัน นกพิราบน้ำแดงเป็นเมนูเด่นของร้านอาหารหลายๆร้านย่านเยาวราช แต่เขานำเข้าจากประเทศจีน เพราะไม่มีใครยอมกินนกพิราบในประเทศไทย ทั้งๆที่ผมก็ว่ากินได้เช่นเดียวกัน เมื่อเร็วๆนี้ ที่ จ.ลพบุรี มีการรณรงค์กินนกพิราบ เอานกพิราบมาปรุงอาหาร ซึ่งนกพิราบเป็นนกเนื้อ คือมีเนื้อเยอะ พอกับนกกระทา โปรตีนสูงเนื้อนุ่ม ถามว่า สกปรกมีเชื้อโรค เช่น หวัดนก หรือ ไข้สมองอักเสบหรือไม่ ตอนนี้ก็พิสูจน์มาแล้ว มีนกพิราบที่ป่วยเป็นไข้หวัดนกน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย ส่วนเชื้อไข้สมองอักเสบ อยู่ในมูลนก ที่ถ่ายออกมาแล้ว ไม่ได้อยู่ที่เนื้อนก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image