เครือข่ายเภสัชกรใต้แถลงค้านร่างพ.ร.บ.ยาฯ ถึงที่สุด ลั่นถ้าจะแก้ต้องใช้ฉบับ ‘หมอมงคล’

เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ชมรมเภสัชกรภาคใต้ และ 8 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ได้แก่ ชมรมเภสัชกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดภูเก็ต, สมาคมศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักวิชาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ร่วมกับสโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กว่า 200 คน ใส่ชุดฟอร์มเภสัชกร แสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … (ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561: ฉบับ ลับ ลวง พราง) พร้อมออกแถลงการณ์คัดค้าน

ภญ.สุจิตา กุลถวายพร ประธานชมรมเภสัชกรภาคใต้ อ่านแถลงการณ์ว่า เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ. …มีข้อบกพร่องร้ายแรงขัดกับหลักการของร่างกฎหมาย ได้แก่ การขาดหลักความเป็นสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดประเภทยา ขาดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ได้แก่ การยกเว้นให้ผู้ไม่เชี่ยวชาญ ผลิต แบ่งบรรจุ และจ่ายยา โดยไม่ต้องขออนุญาต การไม่ทบทวนทะเบียนตำรับยา ขาดหลักความยุติธรรมจากบทลงโทษผู้รับอนุญาตสูงกว่าผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตในลักษณะความผิดเดียวกัน ขาดหลักการตรวจสอบความผิดพลาดจากการใช้ยาระหว่างวิชาชีพ มุ่งเน้นการจัดการเบ็ดเสร็จในตัวเอง โดยคำนึงถึงเพียงประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างวิชาชีพ ไม่คำนึงว่าจะทำลายระบบยาและเพิ่มความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนอย่างร้ายแรงที่สุด และชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 8 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ร่วมกับสโมสรนักศึกษา 2 สถาบัน ได้เรียกร้องต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … (ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561: ฉบับ ลับ ลวง พราง) ออก ไม่เสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ภายใน 15 วัน

“กรณีจำเป็นอย่างยิ่งยวดต้องเสนอโดยไม่สามารถชักช้าได้ ให้นำร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. …ที่ผ่านการพิจารณา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นฉบับที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธานการยกร่างร่วมกับองค์กรสหวิชาชีพต่างๆ เสร็จสิ้น และได้เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว แต่ อย.ได้เก็บดองไว้ ซึ่งเป็นร่างได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองและปลอดภัยจากการใช้ยา มาเป็นร่างหลักเสนอแทน หากไม่มีการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ จาก อย. เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทั้ง 9 องค์กรในภาคใต้ และสโมสรนักศึกษาจะยกระดับการแสดงจุดยืนร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทุกภาคของประเทศไทยเพื่อคัดค้านอย่างถึงที่สุด” ภญ.สุจิตา กล่าว

Advertisement

ด้าน ภญ.วิไลวรรณ สาครินทร์ ตัวแทนชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า หากไม่แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ให้ทุกวิชาชีพสามารถจ่ายยาได้ จะทำให้วิชาชีพพยาบาลไม่สามารถจ่ายยาใน รพ.สต.ได้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะภายใต้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และกฎหมายอื่นๆ นั้น ทุกวิชาชีพในสถานพยาบาลของรัฐ ทั้งโรงพยาบาล และ รพ.สต.สามารถจัดยา เตรียมยา และจ่ายยาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

“พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ไม่บังคับใช้ต่อการผลิตและจ่ายยาของกระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน้าที่บำบัดรักษาโรคอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในหน่วยงานของรัฐมีระบบการทำงานเป็นทีมของสหวิชาชีพ และมีการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เหตุอ้างที่จะแก้ พ.ร.บ.ยา ในทางกลับกัน หากเปิดกว้างให้ทุกวิชาชีพจ่ายยาได้ในสถานประกอบการภาคเอกชน จะยิ่งผิดหลักสากลเรื่องความปลอดภัยทางยาและหลักการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งผลเสียต่อประชาชนในระยะยาว” ภญ.วิไลวรรณ กล่าว

Advertisement

ภก.จรัญวิทย์ แซ่พัว กรรมการสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และกรรมการชมรมเภสัชกรภาคใต้ได้ กล่าวว่า มีความพยายามที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ยา ภายใต้หลักการที่ไม่ถูกต้องมาหลายปีแล้ว ในปี 2557 มีการเคลื่อนไหวใหญ่ในการคัดค้านการแก้ไขในประเด็นที่ไม่ถูกต้อง การคัดค้านในครั้งนั้น นำมาสู่การจัดทำร่าง แก้ไข พ.ร.บ.ยา ร่วมกันจากสภาวิชาชีพด้านสุขภาพทุกสภา ซึ่งมี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน มีการจัดกระบวนการยกร่างจนสำเร็จ เป็นร่างที่ทุกวิชาชีพยอมรับว่าต้องเสียสละเพื่อเดินสู่ระบบสากลดั่งเช่นอารยะประเทศ แต่ร่างดังกล่าวเมื่อร่างเสร็จ อย.ก็ได้เก็บไว้ไม่ผลักดันต่อ จนมาวันนี้ อย.ก็นำร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ไม่มีความชอบธรรมมาผลักดันอีกครั้ง ทำให้วิชาชีพเภสัชกรรมและวิชาชีพสุขภาพหลายวิชาชีพต้องลุกขึ้นมาคัดค้านอีกครั้ง หาก อย.จะแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ให้ได้ ก็ขอให้ถอนร่างปัจจุบันฉบับลับลวงพรางออกไป แล้วนำร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน เสนอเข้า ครม.แทน มิเช่นนั้น จะยกระดับการคัดค้านให้ถึงที่สุด

ภก.นิมิตร วรกุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ขอให้ อย.และ สธ.ซึ่งเป็นเจ้าของร่าง ได้ไตร่ตรองด้วยความรอบคอบ การที่มีการคัดค้านโดยวิชาชีพเภสัชกร และคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง ย่อมแสดงว่า ร่างดังกล่าวมีปัญหาจริง มีความไม่ถูกต้องอยู่จริง การแก้ไข พ.ร.บ.ยา หากยืนบนหลักการสากลด้านความปลอดภัยทางยาและหลักการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแน่วแน่แล้ว ทุกคนยินดีสนับสนุน แต่หากไม่ยืนบนสองหลักการนี้ ก็ไม่อาจสนับสนุนได้ ควรต้องถอนร่างที่มีปัญหานี้ออกไปเพื่อนำกลับมาพิจารณาให้รอบคอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image