ระดมกำลังจี้กรมทรัพย์สินฯ ถอนสิทธิบัตร ‘กัญชา’ ถ้าไม่ทำ! ขอ คสช.ออกม.44 ชี้ขาด

หลังจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเรื่องกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ทั้งอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) ออกมาท้วงจิงกรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากในขณะที่ภาครัฐกำลังผลักดันการปลดล็อกกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ แต่กลับไปรับยื่นขอการจดสิทธิบัตรของต่างชาติเกี่ยวกับสารในกัญชา  พร้อมทั้งจี้ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารับผิดชอบเรื่องนี้

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการพิจารณากัญชาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลนี้กับสื่อมวลชนไปนั้น ล่าสุดตนได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับสิ่งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้กระทำอีก  เพราะตนต้องการให้สาธารณะรับทราบ และไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้รับทราบและหาทางออก เนื่องจากเรื่องนี้สำคัญมาก และทางองค์การเภสัชกรรม รวมทั้งกพย. ไปพบที่กระทรวงพาณิชย์มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีการทำอะไร จนกระทั่งล่วงเลยมา แบบนี้จะกระทบมาก เพราะเมื่อกฎหมายปลดล็อก ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ติดคำร้องยื่นสิทธิบัตรทันที แม้เขาจะยังไม่ได้เลขทะเบียนสิทธิบัตรก็ตาม แต่คำร้องนั้นประกาศโฆษณาไปแล้ว และไม่มีใครคัดค้าน เพราะไม่มีใครรู้เรื่อง แม้ตอนนี้จะมีการทักท้วงก็ไม่แก้ไขอีก แบบนี้ได้รับการคุ้มครองอัตโนมัติ ซึ่งหากกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ดำเนินการใดๆ จะยิ่งแย่ เพราะหากนับตั้งแต่กระบวนการผ่านมา 5 เดือนแล้วก็ไม่เห็นทำอะไร

“ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผมและนพ.โสภณ เมฆธน กรรมการปฏิรูปฯ จะเสนอเรื่องนี้เป็นวาระด่วน พิจารณาว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งประเด็นนี้ผมได้ส่งเรื่องไปยัง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รับทราบแล้ว เพราะเรื่องนี้น่าจะต้องให้ระดับรัฐมนตรีฯหารือกันด้วย เพราะที่ผ่านมาเจรจาด้วยวาจากกลับไม่ได้ผล ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ตอบกับสื่อว่าจะแถลงวันที่ 12 พฤศจิกายน จริงๆ ไม่ต้องแถลงอะไรมาก แค่รับผิดชอบด้วยแค่การยื่นถอดคำขอสิทธิบัตรได้ หรือไม่นายกฯ อาจใช้มาตรา 44 จัดการเรื่องนี้หากกระทรวงพาณิชย์ไม่ทำอะไรสักที ที่สำคัญต้องหาคนรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย ยิ่งคนที่ไปรับยื่นคำขอ และเข้าสู่กระบวนการทำได้อย่างไร ไม่มีคนรับผิดชอบเลย แบบนี้ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ จริงๆกรมทรัพย์สินทางปัญญาควรปฏิรูปจริงๆเสียที เพราะปัญหาสิทธิบัตรที่ผ่านมา ไม่ได้มีแค่กัญชา ยาตัวอื่นๆ ก็มี ลองเข้าไปดูจะรู้หมด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์  กล่าวว่า  สิ่งที่ตนเองอยากย้ำ คือ  คู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2555 กำหนดให้มีการตรวจสอบเบื้องต้นก่อนประกาศโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นคำขอผ่านระบบ PCT หรือระบบปกติ การตรวจสอบเบื้องต้นกำหนดให้ตรวจสอบ ม. 17 , ม. 9 ก่อน ซึ่งตามคู่มือหน้า 4 และ 263  ดังนั้น คำขอรับสิทธิบัตรที่ติด ม. 9 ต้องถูกตัดออก โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องรายงานอธิบดีให้ดำเนินการยกคำขอ จากข้อมูลสิทธิบัตรที่ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตรวจสอบประกาศโฆษณาจากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่ามีคำขอรับสิทธิบัตรเกี่ยวกับสารสกัดจากกัญชา  ซึ่งมีข้อถือสิทธิที่ขัดต่อ ม. 9 (1) เนื่องจากซึ่งเป็นสารสกัดจากพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีการขอถือสิทธิรวมไปถึงการใช้บำบัดรักษาโรค ซึ่งขัดต่อ ม. 9(4)  ซึ่งคำขอรับสิทธิบัตรเหล่านี้ต้องโดนยกคำขอโดยไม่มีการปล่อยหลุดมาจนถึงขั้นตอนการประกาศโฆษณา ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่บกพร่อง และจากการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้คำตอบว่ายังไม่มีการออกเลขสิทธิบัตรให้ แต่ในแง่ของกฏหมายนั้นคำขอนี้ได้รับการคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่นคำขอในราชอาณาจักรแล้ว ตาม ม. 36  ทั้งหมดเป็นข้อกังวลของนักวิจัยไทยเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ทางองค์การเภสัชฯ ได้ตรวจสอบพบว่ามีบางคำขอยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการพิจารณาจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ขณะนี้มีการแชร์ข้อมูล รวมทั้งขึ้นเฟซบุ๊กถึงปัญหาการรับยื่นสิทธิบัตร ยกตัวอย่างเช่น  1. เลขที่คำขอ 0501005232 วันยื่นคำขอ 07/11/2548 วันประกาศโฆษณา 15/03/2550 วันยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 15/01/2551 ขอถือสิทธิ สารผสมทรานส์-(-)-เดลตา9-เตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือทรานส์-(+)-เดลตา9-เตตราไฮโดร แคนนาบินอล ที่สารผสมทรานส์-(-)-เดลตา9-เตตราไฮโดรแคนนาบินอลประกอบด้วยอย่างน้อยประมาณ 98 เปอร์เซนต์ โดยน้ำหนักของทรานส์-(-)-เดลตา9-เตตราไฮโดรแคนนาบินอลยึดตามปริมาณทั้งหมดของ แคนนาบินอยด์ และสารผสมทรานส์-(+)-เดลตา9-เตตราไฮโดรแคนนาบินอลประกอบด้วยอย่างน้อย ประมาณ 98 เปอร์เซนต์ โดยน้ำหนักของทรานส์-(+)-เดลตา9-เตตราไฮโดรแคนนาบินอลยึดตามปริมาณทั้งหมดของ แคนนาบินอยด์ จากคำขอนี้พบว่ายื่นตรวจสอบตั้งแต่ปี 2551 ผ่านมาสิบปี ก็ยังไม่มีการพิจารณาใดๆ ออกมาว่าจะออกเลขสิทธิบัตรให้หรือจะยกคำขอ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

กรรมการปฏิรูปฯ กล่าวอีกว่า  2. เลขที่คำขอ 0601002456 วันยื่นคำขอ 30/05/2549 วันประกาศโฆษณา 09/11/2550 วันยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 08/11/2555 ขอถือสิทธิ สารผสมซึ่งประกอบรวมด้วย ทรานส์-(+-)-เดลตา 9-เตตระไฮโดรแคนนาบินอลที่เป็นผลึก และพาหะที่ยอมรับได้ในทางเภสัชกรรม จากคำขอนี้พบว่ายื่นตรวจสอบตั้งแต่ปี 2555 ผ่านมาหกปี ก็ยังไม่มีการพิจารณาใดๆ ออกมาว่าจะออกเลขสิทธิบัตรให้หรือจะยกคำขอ  3. เลขที่คำขอ 0901002471 วันยื่นคำขอ 03/06/2552 วันประกาศโฆษณา 21/06/2556 วันยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 06/06/2561 ขอถือสิทธิ สารรวมที่เป็นยาสำหรับใช้รักษาโรคมะเร็งประกอบด้วย สารรวมของแคนนาบินอยด์ในปริมาณที่ได้ผลในการทำเคมีบำบัดซึ่งรวมเอาปริมาณยาซึ่งถูกพิจารณาในระดับต่ำกว่าปริมาณที่สารประกอบนั้นจะถูกใช้เพียงชนิดเดียว

“ลักษณะข้างต้นนี้ เท่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยาสามัญก็ประสบกับปัญหาเช่นเดียวกันนี้ในกรณีคำขอรับสิทธิบัตรที่เราเรียกกันว่า evergreening patent ซึ่งมีหลายคำขอที่มีความคลุมเครือ ไม่มีการออกเลขสิทธิบัตรให้จนกระทั่งครบระยะเวลาการคุ้มครอง 20 ปี สิ่งเหล่านี้มันดูเหมือนว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่างชาติ

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) กล่าวว่า คงต้องรอติดตามว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะออกมาชี้แจงและรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร รวมทั้งจะมีวิธีแก้ไขให้เหมาะสมอย่างไรในวันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่งจริง ๆควรแก้ไขนานแล้ว ไม่ใช่ทิ้งไว้ จนล่วงเลยแบบนี้ ถามว่าถ้ากฎหมายออก แล้วงานวิจัยพัฒนา การผลิตสารสกัดกัญาทางการแพทย์จะทำอย่างไร เสียงบประมาณมากมาย ใครรับผิดชอบ ที่สำคัญต้องจับตาร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ฉบับที่กำลังจะปรับปรุง เป็นฉบับที่น่ากังวลว่าจะเอื้อต่อบริษัทข้ามชาติหรือไม่ เพราะตอนนี้ภาคประชาสังคมแทบไม่รู้เลยว่า ร่างกฎหมายฉบับบนี้ถึงตรงไหนแล้ว เตรียมเสนอครม.หรือยัง และจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ อยากให้ทุกคนร่วมติดตามด้วย เพราะขนาดเรื่องกัญชา เป็นข่าวว่ารัฐจะเดินหน้าขนาดนี้ ยังกลับรับยื่นสิทธิบัตรได้ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

จี้ ก.พาณิชย์ถอนสิทธิบัตรต่างชาติยื่นขอกัญชา 6 รายการ จ่อฟ้องศาลคุ้มครอง

หมอจุฬาฯจวกยับ!! หลังกรมทรัพย์สินฯ ให้ต่างชาติยื่นขอจดสิทธิบัตรสาร ‘กัญชา’ กระทบปท.แน่

กก.ยาเสพติดฯ เลื่อนยกระดับ ‘กัญชา’ หวั่นข้อกฎหมาย ส่งกฤษฎีกาตีความ

หมอจุฬาฯเสนอ 4 ข้อ กก.ยาเสพติดฯ หากเมินขู่ผู้ป่วยมะเร็งเคลื่อนไหว อย.ขอรอผล 9 พ.ย.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image