คสรท.เดินหน้าต่อร้อง ป.ป.ช.ปมใช้จ่ายประกันสังคม ซ้ำซ้อน!! กระทบผู้ประกันตน

จากกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ออกมาเปิดเผยถึงการบริหารงานของกองทุนประกันสังคม ว่ามีการบริหารงานด้วยการจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมที่ซ้ำซ้อน เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินเหมาจ่ายรายหัว โดยเฉพาะกรณีการจ่ายค่าตามมาตรฐานรพ. หรือค่าเอชเอ (HA)  โดยจ่ายไปกว่า 8-9 พันล้านบาท จนต้องมีการฟ้องศาลปกครองถึงมีการยกเลิก แต่ประกาศใหม่กลับไม่แตกต่างมีการจ่ายในลักษณะเหมือนเดิม ขณะที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับให้สำนักงานประกันสังคมชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องนี้

อ่านเพิ่มเติม

“บิ๊กอู๋” รับลูกหลังกลุ่มแรงงานฯ ร้อง สปส.ใช้งบซ้ำซ้อน 8 พันล้าน

ความคืบหน้าเมื่อวันที่  29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทางคสรท. ได้ไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่เลขาฯ ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ โดยเป็นนายศิลา แก้วตะพันธ์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) มารับหนังสือเรียกร้องให้สปส.ยกเลิกประกาศใหม่แทน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเรื่องนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องมีผู้รับผิดชอบ ทั้งในเรื่องของประกาศหลักเกณฑ์ตัวเก่า และประกาศหลักเกณฑ์ตัวใหม่ แม้ในเดือนมกราคม 2561 ทางสปส.จะยกเลิกการใช้ประกาศที่กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้โรงพยาบาลตามสิทธิอิงตามมาตรฐานค่าเอชเอแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง เงินที่มีการใช้ไปตามหลักเกณฑ์เดิมที่ออกมาตั้งแต่ปี 2552 แต่หากนับความเสียหายจะอยู่ตั้งแต่ปี 2557 โดยรวมประมาณ 9 พันล้านบาท ตรงนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบในการนำเงินมาคืนแก่กองทุน

Advertisement

“เพราะหลักเกณฑ์เก่าก็ชัดเจนแล้วว่า ทำไม่ได้ ทำไมเราต้องจ่ายเงินค่ามาตรฐานเอชเอให้แก่โรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานอยู่แล้ว แบบนี้จะบอกว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ รพ.ปรับปรุงมาตรฐานการบริการให้มากขึ้น ซึ่งผมว่าไม่เกี่ยวกัน ที่สำคัญเรื่องนี้เราเคยฟ้องศาลปกครองกลาง สุดท้ายสปส.ยกเลิกประกาศนี้ และออกประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ แสดงว่าตัวเองยอมรับว่า หลักเกณฑ์เก่าที่จ่ายเพิ่มว่า รพ.ไหนผ่านเกณฑ์มาตรฐานเอชเอ จะได้เงินเพิ่ม 80 บาทนั้น มีปัญหาจึงต้องเปลี่ยนใช่หรือไม่” นายชาลี กล่าว

รองประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ทางคสรท. จะเดินหน้าทวงความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกันตนทุกคนด้วยการจะยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) 4 หน่วยงาน คือ 1.คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ที่พิจารณาตัดสิน 2.คณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งเสนอเรื่องต่อบอร์ดสปส.ให้อนุมัติ  และจะฟ้องอีก 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) และกระทรวงแรงงาน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาตรา 157 เนื่องจากอย่างสปส. เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ในฐานะเลขานุการบอร์ดฯ และกระทรวงแรงงาน ซึ่งหน่วยงานในกำกับทำผิดก็ควรต้องทราบ โดยจะร้องให้มีการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบ เพื่อนำเงินคืนเข้าสู่กองทุนประกันสังคม

“ส่วนกรณีการออกหลักเกณฑ์ใหม่เป็นการเลี่ยงบาลี เนื่องจากมีการตัดคำว่าเอชเอออกจริง แต่กลับระบุเป็นค่าบริการทางการแพทย์ โดยระบุว่า สถานพยาบาลที่การให้บริการมีคุณภาพ และผลลัพธ์คุณภาพตรงตามตัวชี้วัดที่กำหนดจะได้เพิ่มในอัตราไม่เกิน 60 บาทต่อคนต่อปี ตรงนี้ถามว่าต่างจากการให้เพิ่มกรณีเอชเอ อย่างไร เพราะการระบุตรงนี้อยู่ในส่วนของการจ่ายตามค่าเหมาจ่ายรายหัวของผู้ประกันตนที่ทาง สปส.จ่ายให้รพ.ในเครือข่ายอยู่แล้วจำนวน 1,500 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้น ถือว่าซ้ำซ้อนเหมือนเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเช่นกัน ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมส่งให้ทางศาลปกครองภายในเดือนธันวาคมนี้” นายชาลี กล่าว

Advertisement

นายมนัส โกศล   ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และ ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า สำหรับเรื่องการบริหารงานของกองทุนประกันสังคม ตนก็มองว่าควรมีการปฏิรูปจริงๆ และในส่วนของการเพิ่มเงินให้รพ. โดยเฉพาะเอชเอ ก็ไม่เห็นด้วยว่ามี ซึ่งเข้าใจว่าล่าสุดได้ยกเลิกไปแล้ว เพียงแต่ตัวประกาศใหม่ยังมีคำว่าการบริการที่มีคุณภาพตามตัวชี้วัดจะได้เงินเพิ่มนั้น ตรงนี้ควรไปเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจะดีกว่า โดยอาจต้องให้ชัดไปว่าเป็นอะไรอย่างไร ซึ่งหากทำแบบนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image