‘อรรถพล’ นำพยัคฆ์ไพรแถลงโต้รับส่วยมู่หลานแลกตำแหน่ง เบิกเบี้ยเลี้ยงเดือนละล้าน แจ้งความแล้ว

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายอรรถพล เจริญชันษา ว่าที่อธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า และ พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.4กอ.รมน.) แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีกลุ่มบุคคล สื่อมวลชนเสนอข้อความเท็จโจมตีการปฏิบัติงานของ ศปก.พป. กรณีอ้างว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์จากการถอนอายัดไม้ภายหลังการจับกุมขบวนการค้าไม้ข้ามชาติแก๊งมู่หลานกว่า 100 ล้านบาท

นายอรรถพล แถลงว่า ศปก.พป.ขอชี้แจงว่าขบวนการค้าไม้ข้ามชาติเครือข่ายมู่หลานดำเนินการทำไม้ข้ามชาติมาเป็นเวลานาน โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย จนมาถึงสมัยรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งและนโยบายและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนสามารถจับกุมขบวนการค้าไม้ข้ามชาติเครือข่ายมู่หลาน ได้ตัวการที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไทยและต่างชาติ คือ นายเฉิน หง หม่า นายทุนชาวจีน นายมิน ซอ  นายเซด ทู นายละแมว คนงานชาวพม่าทั้งหมดถูกจับกุมที่โกดังแพรกษา รวมถึงจับกุม พล.อ.อ.สุรชัย คงเทศ หรือ เสธ.บอย นายทหารนอกราชการ และได้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าไม้ข้ามชาติ ขณะเดียวกัน ได้ออกหมายจับ น.ส.ชลิตา สุพันธมาส หรือมู่หลาน ที่ยังหลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ถึง 2 หมายจับ และภายในสิ้นปีนี้จะมีการออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการเพิ่มอีก 15 คน

“ในฐานะ ผอ. ศปก.พป. เป็นผู้สั่งการให้มีการดำเนินการจับกุมและขยายผลการตรวจสอบในทุกกรณีที่เกิดขึ้น ดังนั้นการระบุว่ามีการเก็บเงินจากส่วยมู่หลานเป็นเงินมาวิ่งเต้นตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ จึงเป็นการใส่ร้าย ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีต่อกองบังคับการปราบปรามเพื่อสืบหาตัวบุคคลและขบวนการที่สร้างความเสียหายให้ ศปก.พป. และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่ร่วมกันทำงานแล้ว เชื่อว่าเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เป็นข้าราชการบางกลุ่มที่เสียประโยชน์ ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการจับกุมขบวนการค้าไม้ และอาจมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับความไม่พอใจในการสรรหาอธิบดีกรมป่าไม้ด้วย” นายอรรถพล กล่าว

Advertisement

ด้านนายชีวะภาพ แถลงว่า ที่ผ่านมา มีความพยายามร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ และเป็นหนังสือลับเข้าสู่ระบบหนังสือเวียนอิเล็กทรอนิกส์ของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถึง 3 ครั้ง และทำให้เรื่องนี้กระจายเป็นหนังสือราชการไปทั่วประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับ ศปก.พป. และพาดพิงว่าชุดพยัคฆ์ไพรมีการเบิกเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 1 ล้านบาทด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงได้เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถสืบหาตัวผู้ที่นำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบของทางราชการได้ทั้งหมดแน่นอน

“ในหนังสือร้องเรียนระบุว่า ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพรเบิกเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 1 ล้านบาท และไม่ได้ทำงาน ไม่มีผลงานขอเรียนว่า เวลานี้ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพรมีเจ้าหน้าที่เป็นข้าราชการ 3 คน พนักงานราชการ 10 กว่าคน ลูกจ้างรวมแล้ว 20 คน ถ้าทุกคนเบิกเบี้ยเลี้ยงรวมกันเป็นเงิน 1 ล้านบาท จริง ทุกคนจะต้องทำงานเดือนละ 90 วัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ข้อเท็จจริงคือ ชุดปฏิบัติการทั้ง 3 ชุด เบิกเบี้ยเลี้ยงเฉลี่ยชุดละ 1 แสนบาท ก็แค่ 3 แสนบาท เท่านั้น และเป็นการเบิกจ่ายตามข้อเท็จจริงเมื่อออกปฏิบัติงาน และมีการรายงานผลทุกครั้ง” นายชีวะภาพ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image