เริ่มมีปัญหา! ‘สบส.’ ชงตีความ ‘ค่ายา’ เอาให้ชัด เหตุหมอจ่ายยาตามอาการ ต่างจากสินค้าทั่วไป

กรณีสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)  พิจารณาทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2562 โดยเบื้องต้นให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม และเตรียมตั้งอนุกรรมการเพื่อดำเนินการศึกษา เนื่องจากมองว่าโรงพยาบาลเอกชน เป็นทางเลือกให้ประชาชนที่ตามปกติจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลของตนเองอยู่แล้ว ขณะที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์มองว่า เรื่องนี้หากทำได้จริงๆ จะเป็นเรื่องนี้ แต่กังวลว่าจะทำไม่ได้จริง และตั้งคำถามว่าใกล้เลือกตั้งจึงมีนโยบายนี้ออกมาให้ดีใจก่อนหรือไม่นั้น

อ่านเพิ่มเติม>นายกสมาคมลั่นรัฐจ่อควบคุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชน ทำหุ้นร่วง! หรือ ปท.จะมี รพ.รัฐเท่านั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 11 มกราคม ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการหารือร่วมกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ถึงการควบคุมค่ายาและค่ารักษา ว่า จากกรณีที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบให้ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม ยังต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และออกมาเป็นกฎหมายอีก แต่ข้อเท็จจริงนั้น “ยา” ถือเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว ซึ่งจากการหารือกันเบื้องต้นทาง รพ.เอกชน ก็ได้ชี้แจงข้อกังวลเรื่องของค่ายาในโรงพยาบาลว่า จัดเป็นสินค้าหรือไม่ เพราะหากเป็นร้านขายยาถือว่าเป็นสินค้าควบคุมแน่นอน เพราะต้องมีการติดราคาไม่ให้ขายเกินราคา แต่ขายถูกกว่าได้

“ส่วนค่ายาในโรงพยาบาลหรือคลินิกต่างๆ นั้น ทาง รพ.เอกชนอยากให้คณะกรรมการประกอบโรคศิลปะตีความว่า จัดเป็นส่วนหนึ่งของการบริการรักษาหรือไม่ เพราะมองว่าจะต้องมีการตรวจร่างกาย มีการวินิจฉัย มีอาการอย่างไร ผลแล็บอย่างไร จ่ายยาอย่างไร ความแรงเท่าไร จำนวนเท่าไร ถึงจะป้องกันโรคได้ แล้วนัดมาดูอาการ เป็นลักษณะของกลไกการรักษา นอกจากนี้ การจ่ายยาในโรงพยาบาลก็เป็นการจ่ายตามความเห็นของแพทย์ เช่น ยาอยู่ในโรงพยาบาล 1 แกลลอน แต่แบ่งจ่ายให้คนไข้ 20 ซีซี เหมือนกับหมอไม่ได้จ่ายเป็นกระปุก แต่จ่ายเป็นเม็ด กี่เม็ด ดูตามความเหมาะสมของอาการ ยาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบโรคศิลปะหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจัดเป็นสินค้าตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งผมก็จะเอาข้อกังวลเหล่านี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ” ทพ.อาคม กล่าว

Advertisement

ทพ.อาคม กล่าวว่า คณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ ประกอบด้วยตัวแทนจากสภาวิชาชีพด้านสุขภาพต่างๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน ว่าจะดำเนินการประชุมเมื่อไร แต่คณะกรรมการฯ จะรับพิจารณาหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอาจมองว่าไม่ใช่หน้าที่ก็ได้ นอกจากนี้ ก็ต้องอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการฯ ด้วยว่า ยาในโรงพยาบาลจะจัดเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาหรือจัดเป็นสินค้า หากเป็นสินค้าก็จะเข้าสู่กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะแสดงความโปร่งใสอย่างไร ในเรื่องของต้นทุน ค่าบริหารจัดการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พาณิชย์มีการตั้งคณะอนุกรรมการมาพิจารณาอยู่

“เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความเข้าใจคนทั่วไป คือ ยาในคลินิกในโรงพยาบาลต้องควบคุม ว่าเหตุใดทำไมถึงแพง สมมติจ่ายยาพาราเซตามอล 10 เม็ด ยาแก้อักเสบ 20 เม็ด คิด 300 บาท แต่ข้างนอกราคา 50 บาท ซึ่งหากมองว่าเป็นสินค้าก็ต้องติดป้ายราคายาในหรือไม่ ถ้าไม่ติดป้ายห้ามจ่ายคนไข้ เพราะเป็นสินค้าควบคุม แต่ที่ผ่านมายาในโรงพยาบาลก็ไม่เคยเห็นมีใครติดป้ายไว้ที่ยา ไว้ที่กล่อง ก็จ่ายตามปกติ แต่ต้องชี้แจงราคายา ซึ่งจะมีเป็นแฟ้มราคายาในห้องยาอยู่ ซึ่งก็มีเป็นพันๆ รายการ และสามารถค้นมาดูได้ เหล่านี้ก็ต้องมาวินิจฉัยกัน” ทพ.อาคม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image