ปี’61 จับค้าสัตว์ป่า565คดี ของกลาง7,318ตัว 1,521ซาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้ตลาดมืดยังต้องการ

แฟ้มภาพ

กรณีเฟซบุ๊กเพจ Freeland ประเทศไทย โพสต์รูปภาพการจับกุมขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า พร้อมทั้งระบุข้อความว่า ปัจจุบันมีกลุ่มนักล่ามืออาชีพ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากองค์กรค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ เดินทางเข้ามาล่าสัตว์ในประเทศไทย โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมขบวนการล่าเสือโคร่งได้สำเร็จนั้น

เมื่อวันที่ 23 มกราคม นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ (สบอ.) 11 (พิษณุโลก) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เหตุดังกล่าวเป็นข่าวเก่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 โดยตำรวจ สภ.เมือง จ.พิษณุโลก จับกุมชาวเวียดนาม 2 คน ขณะลักลอบขนซากเสือโคร่งขึ้นรถทัวร์จาก จ.ตาก เดินทางไปที่ จ.หนองคาย เพื่อข้ามฝั่งไป สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินคดีและจับกุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า จากการจับกุมดังกล่าว พบซากเสือโคร่งเพศผู้อายุประมาณ 15-20 ปี ยาว 3 เมตร น้ำหนักมากถึง 200 กิโลกรัม ซึ่งเป็นซากเสือโคร่งที่สมบูรณ์มาก มีการชำแหละแยกชิ้น เนื้อนำไปย่างรมควัน ซากเสือโคร่ง 1 ตัว หากส่งออกไปต่างประเทศได้ จะมีมูลค่ามากกว่า 2-3 ล้านบาท ซึ่งยังมีความเชื่อว่าบางชิ้นส่วนของเสือโคร่งนำไปบดยาเพื่อเป็นยาบำรุงกำลังหรือยาอายุวัฒนะ ซึ่งขบวนการเหล่านี้ยังคงมองหาลู่ทางในการลักลอบล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าของไทย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมกับตำรวจ ทหาร ดำเนินการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่า และขยายผลการจับกุมสืบหาถึงกลุ่มนายทุนต่อไป

Advertisement

ด้านนายสมศักดิ์ ภูเพ็ชร์ ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า วันเดียวกัน ตำรวจภูธร ภาค 1 ได้แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาในเครือข่ายลักลอบค้าซากสัตว์ป่าข้ามชาติ 4 ราย เป็นชาวไทย 2 ราย เวียดนาม 1 ราย และลาว 1 ราย ซึ่งขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นขบวนการใหญ่ที่ล้วนเกี่ยวเนื่องด้วยกันทั้งสิ้น “อย่างคดีจับซากเสือโคร่งเมื่อเดือนตุลาคม 2561 ก็เป็นขบวนการเดียวกันกับผู้ต้องหาทั้ง 4 รายนี้ โดยการจับกุมแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สืบขยายผล สืบหานายทุน โดยส่วนใหญ่จะสืบหาจากแหล่งบัญชีของผู้ต้องหาว่าได้รับเงิน หรือมีการสั่งการมาจากใคร” นายสมศักดิ์ กล่าวและว่า เครือข่ายลักลอบค้าซากสัตว์ป่าข้ามชาติ มีทั้งคนไทยที่เป็นผู้ชี้ทาง หาที่พักพิงให้คนในประเทศเพื่อนบ้านมาหลบอาศัย ซึ่งการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ถือเป็นเครือข่ายที่ใหญ่มาก พบซากสัตว์ส่วนของเล็บหมี 1,666 ชิ้น คาดว่าเป็นชิ้นส่วนของหมีควาย รวมแล้วไม่น้อยกว่า 84 ตัว และยังพบกะโหลกเสือไม่ทราบพันธุ์และอายุอีกด้วย ทั้งนี้ของกลางดังกล่าวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 8 ล้านบาท

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากสถิติคดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – วันที่ 30 กันยายน 2561 มีคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่ารวม 565 คดี สัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าที่ตรวจยึดได้ แบ่งเป็น สัตว์ป่าที่มีชีวิต 7,318 ตัว ซากสัตว์ป่า 1,521 ซาก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2560 ถือว่ามียอดสถิติที่สูงกว่าเดิม สะท้อนให้เห็นว่าตลาดมืดยังมีความต้องการลักลอบค้าสัตว์ป่าอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการสืบสวนขยายผลติดตามผู้ร่วมขบวนการต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image