อุทยานฯ ผุดไอเดีย ติดสายรัดข้อมือกันหลงป่า นำร่องเส้นทางฮิต “เขาใหญ่-โมกูจู-เขาช้างเผือก-ภูกระดึง”

อุทยานฯ ผุดไอเดียติดสายรัดข้อมือกันนักท่องเที่ยวกันหลงป่า นำร่องใช้เส้นทางฮิต “เขาใหญ่-โมกูจู-เขาช้างเผือก-ภูกระดึง”

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “รวมพลคนกู้ภัย อุทยานแห่งชาติ” โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการ(ผอ.)สำนักอุทยานฯ นายวิทยา หงษ์เวียงจันทร์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สบอ.) ปราจีนบุรี นายสุพจน์ เพริดพริ้ง ผอ.สบอ. 7 นครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่และเครือข่ายด้านการกู้ชีพ กู้ภัยจากทั้งภาครัฐและเอกชนเข่าร่วม

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า กรมจัดอุทยานฯ มีพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นแหล่งนันทนาการที่งดงาม โดดเด่น อยู่ภายในอุทยานฯ 154 แห่ง ทั่วประเทศ ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งอุทยานฯ ส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล กรมอุทยานฯ จึงได้จัดตั้งส่วนกู้ภัยและมวลชนสัมพันธ์ มีศูนย์กู้ภัยและมวลชนสัมพันธ์ 7 แห่ง อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อการเป็นเตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งจะเป็นการช่วยรักษาชีวิตของนักท่องเที่ยวหากเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุขึ้นในพื้นที่ โดยโครงการรวมพลคนกู้ภัยฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ความพร้อมในการดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯ อีกทั้งเผยแพร่ผลงานด้านการกู้ชีพ กู้ภัย การบูรณาการที่ได้รับการสนับสนุนในการปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติแห่งชาติ ชมรมกลุ่มไทยอาสาสมัครสุนัขกู้ภัย และ FROG TEAM THAILAND มูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นต้น

Advertisement

นายทรงธรรม กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ มีชุดกู้ภัยอยู่ในทุกอุทยานฯ แห่งชาติ โดยมีสนามจอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ 150 แห่งทั่วประเทศ และมีรถกู้ภัยอุทยานฯ กว่า 30 คัน กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ที่พร้อมให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีการฝึกซ้อมความพร้อมในการรับมือเหตุฉุกเฉินทุกๆ ปี ทั้งนี้ที่ผ่านมาเกิดเหตุกรณีนักท่องเที่ยวหลงป่าเกิดบ่อยครั้ง เพื่อแก้ปัญหานี้กรมอุทยานฯ จะนำระบบสายรัดข้อมือ หรือริสต์แบนด์ติดตามตัวมาใช้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเดินป่าในพื้นที่อุทยานฯ โดยริสต์แบนด์ดังกล่าวจะเชื่อมต่อด้วยระบบจีพีเอสทำให้ทราบพิกัดของนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานฯ ได้ ซึ่งจะนำร่องใช้พื้นที่อุทยานฯ ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาเดินป่าเป็นจำนวนมาก เช่น อุทยานฯ เขาใหญ่ เส้นทางเดินป่าเขาโมกูจู อุทยานฯ แม่วงศ์ จ.กำแพงเพชร เส้นทางเดินป่าเขาช้างเผือก อุทยานฯ ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เส้นทางเดินป่าบนอุทยานฯ ภูกระดึง เป็นต้น รวมทั้งได้มีการนำระบบวิทยุคมนาคมเฉพาะกิจระบบดิจิทัล (DTRS) มาใช้ในพื้นที่อุทยานฯ ทางทะเล เพื่อใช้บริการจัดการเรือนำเที่ยว เพื่อให้ทราบพิกัดและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย

Advertisement

ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวอีกว่า อยากแนะนำให้นักท่องเที่ยวที่เข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯ ต่างๆ ทำประกันท่องเที่ยวอุทยานฯ โดยซื้อประกันพร้อมตั๋วเข้าอุทยานฯ ในราคาเพียง 10 บาท ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงไม่คาดฝันขึ้น นอกจากความเชื่อเหลือของทางอุทยานฯ ที่มีชุดกู้ภัยประจำอยู่ทุกแห่งแล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยในเรื่องค่ารักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image