นักวิชาการสาธารณสุขแจ้งกระแสข่าวกีดกันวิชาชีพพยาบาล เป็น ‘ผอ.รพ.สต.’

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายริซกี สาร๊ะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ  กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่า มีพยาบาลปฐมภูมิถูกกีดกันการขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) นั้น ข้อเท็จจริงแล้ว ขอย้ำว่า ทุกวิชาชีพ เป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. ได้  โดยก่อนอื่น อยากให้คนที่อยากเป็น ผอ.รพ.สต. ทุกท่าน ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ควรศึกษาระเบียบต่างๆให้ถ่องแท้  เพราะระเบียบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ก.พ. ที่ นร 10008.3.3/105 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2555 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและเงื่อนไข การกำหนดตำแหน่งระดับสูงขึ้นเฉพาะกรณีในสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยในหลักเกณฑ์ ข้อ 2.3 ได้กำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.สต ว่าต้องเป็น นักวิชาการสาธารณสุข ระดับ ชำนาญการพิเศษ

“ ดังนั้น  ใครอยากเป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. ต้องเปลี่ยนตำแหน่งเป็นนักวิชาการสาธารณสุขก่อน ซึ่งจะได้ค่าตอบแทนน้อยกว่า พยาบาล เพราะยังไม่มีค่าตอบแทนต่างๆ เช่น ค่าตำแหน่ง  ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปมของพยาบาล ที่อยากได้ตำแหน่งทางการบริหารในรพ.สต. แต่ไม่อยากเปลี่ยนตำแหน่ง เพราะต้องเสียค่าตอบแทนในฐานะพยาบาล เดือนละเฉียดหมื่น การเป็นผอ.รพ.สต.จึงมีตำแหน่งชำนาญการเท่าลูกน้อง เพราะไม่มีการจัดสรรตำแหน่งชำนาญการพิเศษมาให้ แถมค่าตอบแทนก็ยังน้อยกว่าลูกน้องมาเนิ่นนานแล้ว” นายริซกี กล่าว

นายริซกี กล่าวอีกว่า การกล่าวหาว่ามีการกีดกัน พยาบาลขึ้นเป็นผอ.รพ.สต. จึงเป็นความเท็จ ที่ต้องมีการออกมาแก้ไขต่อไป เพราะตอนนี้มีบุคคลจากหลายวิชาชีพที่มาใช้ตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ หรือเชี่ยวชาญ ฯลฯ จนได้ตำแหน่งระดับสูง ในจังหวัด เช่น รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือตำแหน่งอื่นๆในกระทรวง กรม กอง เขต โดยท่านเหล่านั้น ยอมเปลี่ยนตำแหน่ง เป็น นักวิชาการสาธารณสุข ตอนนี้ ในรพ.สต จะมีบุคลากรหลายวิชาชีพ เช่น นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชาชีพ เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข แพทย์แผนไทย ต่างก็ปฏิบัติงานหนักพอๆกัน ไม่ใช่มีแค่วิชาชีพใด วิชาชีพหนึ่งเท่านั้น เพราะต่างทำงานตามพื้นที่กันดาร ชายขอบ ชายแดน เกาะ ดง ดอย ของประเทศ รับตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยแลกมาด้วยความยากลำบากในทำงานภายใต้ความเสี่ยงสูงในขณะที่ออกปฏิบัติงาน เช่น ในพื้นที่เสี่ยงสูงตามตะเข็บชายแดน บนดอยสูง รวมไปถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งบางครั้ง ก็มักประสบเหตุอันตรายจากการเดินทางและสถานการณ์ความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ต้องให้บริการกับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จนถึงผู้สูงอายุ

นายริซกี กล่าวว่า ปัญหาคือ ด้วยตำแหน่ง ผู้อำนวยการรพ.สต เป็นตำแหน่งที่ไม่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ แค่จังหวัดละ 1 ตำแหน่ง ทุกวิชาชีพเลยต้องมาแย่งกัน  ไม่เหมือนผู้อำนวยการโรงพยาบาล พอครบหลักเกณฑ์ ต่างก็ปรับเป็น ชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญกันได้เร็วมาก ยิ่งเทียบกับผู้อำนวยการโรงเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสามารถปรับตำแหน่งได้เร็วมาก ไม่มีการจำกัดใดๆ ทั้งๆที่ทำงานในชุมชนเช่นเดียวกับผู้อำนวยการ รพ.สต. และด้วยยังมีความเหลื่อมล้ำสูงมากในกระทรวงสาธารณสุข จึงขอเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ควรจัดสรรตำแหน่งชำนาญการพิเศษให้กับทุกวิชาชีพอย่างทัดเทียม เป็นธรรม โดยเฉพาะผู้อำนวยการ รพ.สต. ที่มีหลักเกณฑ์ครบ   ให้สอดคล้องกับโครงสร้างหน่วยงานสาธารณสุขส่วนภูมิภาคใหม่ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการปฐมภูมิ 4.0 (พ.ศ. 2560 -2579)  ที่ในเนื้อหาให้ความสำคัญกับทุกวิชาชีพอย่างทัดเทียมเป็นธรรม

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image