ผู้เชี่ยวชาญพืชโบราณเชื่อ ‘กัญชาไทย’ เคยหลากหลายมาก แต่โดนบังคับสูญพันธุ์ แนะรัฐบาลใหม่เร่งฟื้น

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาวสาวณัฎฐา ชื่นวัฒนา นักวิชาการด้านพืชโบราณ นักศึกษาปริญญาเอกด้าน archaeobotany หรือ โบราณพฤกษคดี มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา กล่าวกับ ‘มติชนออนไลน์’ ถึงประเด็นสายพันธุ์กัญชาในประเทศไทยว่า เดิม เชื่อว่ามีสายพันธุ์หลากหลายมาก แต่ถูกบังคับสูญพันธุ์ด้วยการทำลายทิ้ง เนื่องจากมองเป็นยาเสพติด สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำเป็นอย่างแรกคือรวบรวมข้อมูล จัดให้เป็นระบบ อย่างไรก็ตามการจะฟื้นพันธุ์ที่สูญไปเพราะถูกทำลายในลักษณะนี้เป็นไปได้ยากมาก

“สังคมไทยเป็นสังคมที่อนุรักษนิยมมาก ในขณะเดียวกันกฎหมายกับการบังคับใช้กฎหมายหลายๆอย่าง มันทำให้กัญชาเป็นพืชผิดกฎหมายมานาน กัญชาเป็นพืชท้องถิ่นในเขตร้อนชื้นของประเทศไทยอยู่ดีๆ ก็ถูกบังคับให้สูญพันธุ์ด้วยการแปะป้ายว่าเป็น ยาเสพติด มันก็ส่งผลให้เกิดการกำจัดต้นกัญชา ผลิตภัณฑ์จากกัญชาอย่างกว้างขวาง และยังควบคุมพฤติกรรมของคนที่เคยใช้กัญชา เมื่อพฤติกรรมของคนเกิดการถูกควบคุม ความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านของเราที่เคยมีเกี่ยวกับสรรพคุณและผลเสียของกัญชาก็ลดลงหรือหายไปในที่สุด จะเกิดเหมือนกรณีการทำลายฝิ่นคือตัดทิ้ง เผาทำลาย ความหลากหลายของสายพันธุ์กัญชาพื้นบ้านมันก็หายไปพร้อมๆ กันด้วย กัญชาท้องถิ่นต่างๆ อาจจะเคยมีมากมายหลายสายพันธุ์ในแต่ละภาค มีความทนทานต่อสภาพอากาศ โรคพืชต่างๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ มันก็หายไป ไม่รู้ว่าอยู่ไหน หรือยังมีอยู่หรือเปล่า”

เปิดประเด็นด้วยสถานะของกัญชาที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชเชื่อว่าส่วนหนึ่งสาปสูญไป โดยมองว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำอย่างแรกคือรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ อย่างไรก็ตามการปลูกหรือสร้างกัญชาพันธุ์พื้นเมืองขึ้นมาจากสิ่งที่เคยถูกพยายามทำให้หายไป เป็นสิ่งที่ยากมาก

“ในอดีตกัญชาเป็นส่วนหนึ่งของตำรายาไทย เป็นส่วนประกอบในตำรับยาต่างๆ แต่พอจะย้อนกลับไปในจุดนั้น สิ่งที่ขาดไปคือความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งขาดช่วงไปแล้ว เราไม่รู้ว่าจะต้องใช้กัญชาอย่างไรถึงจะปลอดภัย ต้องปลูกอย่างไร ต้องดูแลอย่างไร ความรู้ก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ ซึ่งยังเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านหายไปพร้อมๆ กับการบังคับใช้กฎหมาย คนที่รู้ ก็อาจจะไม่อยู่แล้ว มันเป็นความรู้ที่ตกหล่นไประหว่างช่องว่างระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับอีกรุ่นหนึ่ง มันอาจจะตกหล่นอยู่ที่ไหนก็ได้ จึงเป็นเรื่องของรัฐบาล ที่จะสร้างความมั่นใจต่อผู้รู้ที่ยังกบดานอยู่ จะสร้างความมั่นใจกับคนเหล่านี้ได้ไหม แล้วจะดึงความรู้ในส่วนที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ หรือที่สำคัญที่สุดคือ สายพันธุ์กัญชาที่ถูกแอบเก็บรักษาเอาไว้ เป็นกัญชาพันธุ์พื้นบ้านที่เข้ากับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและความรู้ในส่วนที่ไม่เป็นทางการ คือ ทำอย่างไรให้ความรู้ส่วนนี้เป็นทางการ เป็นระบบขึ้นมา นี่คือมรดก เป็นทุนที่เรามีมาก่อนสามารถนำมาใช้เป็นจุดขายให้เกิดความแตกต่างทางการตลาด และรวมทั้งการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชาไทยในอนาคตได้ คือเราไม่สามารถทิ้งคนตัวเล็กตัวน้อยพวกนี้ได้เลย”

Advertisement

ส่วนแนวคิดเรื่องการ ‘อิมพอร์ต’ กัญชาจากเมืองนอก ณัฎฐา อธิบายว่า เพราะกัญชาในต่างประเทศผ่านการศึกษามาอย่างดี โดยมีการ ‘ลงทุน’ ในด้านต่างๆอย่างมากมาย ต่างจากกัญชาของไทยในขณะนี้

“ต้องเข้าใจก่อนว่า การปลูกกัญชาในที่หนาวเย็น ต้องใช้การลงทุนมาก พื้นที่ที่อากาศหนาว จะต้องทำอย่างไรให้ร้อน ทำอย่างไรให้ชื้น ให้กัญชาโตได้แข็งแรงโดยไม่มีโรครบกวน ให้สารเคมีทางยาที่ได้มาตรฐาน มันก็ต้องใช้เงิน ใช้ไฟฟ้า ใช้ทรัพยากรต่างๆ มากมาย เขาพยายามเพาะพันธุ์กัญชาให้ได้ผลมากที่สุดในพื้นที่น้อยที่สุด ผ่านการคิดค้นมาอย่างดี คำนวณแล้วทุกตารางเมตร เพื่อให้คุ้มค่าไฟ เพราะแพง ไหนจะค่าแรงอีก ดังนั้น ทุกอย่างต้องคุ้ม แล้วเขาจะปลูกกัญชาแบบไหนที่ทำให้คนซื้อ ลูกค้าเมืองนอกเขาเลือก กัญชาที่ปลูกเป็นกัญชาพุ่มเตี้ย ออกดอกได้ไวโดยไม่เปลืองพื้นที่ปลูก ไม่เหมือนกัญชาพื้นเมืองในเมืองไทยที่ชูขึ้นไปสูง 2 เมตร กว่าจะออกดอกเล็กนิดเดียว นี่คือความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ที่มีในตอนนี้”

อ่านข่าว 69 วัน ศึกกัญชา ส่อง ‘แคนาดา’ มองไทย จากการแพทย์ถึงความสุนทรีย์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image