ปลัด กทม.ยัน “กรุงเทพธนาคม” ทำโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินโปร่งใส

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวชี้แจงกรณีที่นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นต่อโครงการท่อร้อยสาย หรือการย้ายสายสื่อสารลงใต้ดินว่า การที่ กทม.จะดำเนินการโดยให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ซึ่งเป็นบริษัทลูกทำสัญญากับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาแบบให้สิทธิผูกขาดรายเดียวเป็นเวลา 30 ปี จะส่งผลเสียต่อประชาชนและผู้ประกอบการรายอื่น เนื่องจากการโอนสิทธิ 2 ต่อ จะทำให้ค่าบริการแพงขึ้น และอาจเป็นการกีดกันการแข่งขันของผู้ประกอบการรายอื่นและอาจเกิดการผูกขาด โดยเสนอแนะว่า กทม.ควรดำเนินการแบบต่างประเทศ คือ กทม.เป็นผู้ให้บริการท่อร้อยสายเอง และให้เอกชนแต่ละรายสามารถเช่าใช้ได้อย่างเสมอภาคในราคาที่เหมาะสม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้น กทม.ขอชี้แจงว่า ในการดำเนินโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร มีจุดประสงค์เพื่อความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และทัศนียภาพที่สวยงามของเมือง กทม.ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 และมติที่ประชุมคณะกรรมการดีอี ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ได้รับทราบแนวทางการดำเนินการเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 กทม.จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงมอบหมายภารกิจดังกล่าวให้บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ซึ่งเป็นวิสาหกิจของ กทม. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำท่อร้อยสายทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ

นางศิลปสวย กล่าวว่า บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ได้ดำเนินตามขั้นตอนด้วยความโปร่งใส มีการประกาศผ่านทางหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ของบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ รวมถึงเปิดให้ลงชื่อแสดงเจตจำนงในการยื่นข้อเสนอใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งมีผู้มาแสดงเจตจำนง 9 ราย จากนั้นได้ส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จำนวน 16 ราย รวมเป็น 25 ราย และมีผู้มารับเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอผู้ใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม จำนวน 16 ราย ในส่วนของการคัดเลือกนั้นได้มีการคัดกรองคุณภาพเบื้องต้น (Pre-qualification) เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอและคัดเลือก โดยพิจารณาคุณสมบัติทางเทคนิคและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท เพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งงาน อีกทั้งการก่อสร้างต้องใช้เทคนิคการขุดเจาะลากท่อ หรือ HDD ซึ่งจะเป็นวิธีดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทางเท้าน้อยที่สุด

“นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลฯ และ กสทช. ได้เชิญ กทม. บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ร่วมหารือเรื่องอัตราค่าบริการ ซึ่งปัจจุบันบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ยังไม่ได้กำหนดหรือสรุปราคาค่าเช่าท่อกับ กสทช. ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการกำหนดราคาและต้องเป็นไปตามแนวทางที่ กสทช.กำหนด ซึ่งจะได้มีการหารือร่วมกับ กสทช.ต่อไป ทั้งนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ จะเปิดให้ทุกบริษัทสามารถใช้ท่อร้อยสายสื่อสารได้ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ในอัตราที่ กสทช. กำหนดแนวทางไว้ เอกชนแต่ละรายสามารถมาเช่าใช้ได้อย่างเสมอภาคในราคาที่เหมาะสมภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. ที่มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและสาธารณะ” นางศิลปสวย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image