เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวพร้อมเปิดตัวนวัตกรรมกับดักไข่ยุงแบบดักตาย “กับดัก LeO-Trap” (ลีโอแทรป) ว่า สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออกปีนี้ พบมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่าคาดการณ์ถึง 2-3 เท่า ปัจจุบันราว 5 หมื่นรายแล้ว ซึ่งการกำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณโดยรอบบ้านเรือนเป็นสิ่งสำคัญ ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้คิดค้นนวัตกรรม กับดักไข่ยุงแบบดักตายลีโอแทรป โดยใช้สารดึงดูดให้ยุงลายมาวางไข่ และใส่สารกำจัดลูกน้ำในกับดัก เพื่อกำจัดลูกน้ำทั้งหมดที่ฟักออกมา หรือลดปริมาณลูกน้ำยุงลายได้ถึง 1 ล้านตัว ภายใน 4 สัปดาห์ ซึ่งผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่าสารสกัดจากหอยลายเป็นสารดึงดูดที่ดีที่สุดในขณะที่ซีโอไลท์กำจัดลูกน้ำยุงลายมีความเหมาะสมมากที่สุดที่จะนำไปใช้ในกับดักเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพราะเมื่ออยู่ในน้ำจะไม่มีกลิ่นของสารเคมี ทำให้ยุงไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามีสารเคมีอยู่ จึงมาวางไข่ เมื่อไข่ฟักออกมาภายใน 1-2 วันเป็นลูกน้ำยุง จะถูกกำจัดโดยผลิตภัณฑ์ซีโอไลท์กำจัดลูกน้ำ นับเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมสำหรับนำมาใช้เป็นมาตรการเสริมในการควบคุมยุงพาหะโรคไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา และไข้ซิกา ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บริษัทเอกชนนำไปผลิตและจำหน่าย 1 กล่อง มี 2 ชุด ราคา 300 บาท ประชาชนสามารถซื้อได้ทางเฟซบุ๊ก leotrap, ไอจี LeO-Trap, ไลน์ leotrap-ikari หรือ โทร.0 2295 2151-3
นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับข้อดีของนวัตกรรมนี้ คือ ลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพ่นสารเคมีกำจัดตัวเต็มวัย โดยใส่สารกำจัดลูกน้ำเฉพาะในกับดักขนาดเล็ก บ้านละ 2–4 กับดัก ใช้ได้นาน 3 เดือน นำไปวางในบ้านในห้องนั่งเล่นหรือใต้บันได และนอกบ้านวางที่บริเวณชั้นวางรองเท้า หรือใกล้กระถางต้นไม้ โดยการเติมซีโอไลท์กำจัดลูกน้ำ ผลการศึกษาล่าสุด โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ในบ้านจำนวน 36 หลังคาเรือน พบว่า กับดัก LeO-Trap สามารถลดค่าดัชนีความชุกชุมของยุงลายต่อบ้าน (House Index : HI) เหลือเพียงร้อยละ 13.9 จากร้อยละ 50 ก่อนดำเนินการ ภายในระยะเวลา 4 วันเทียบเท่ากับการลดประชากรยุงลายได้ ประมาณ 400,000 ตัวต่อ 1 ตร.กม. และผลจากการนับไข่ยุงลายที่ดักได้จากกับดักทั้งหมดประมาณ 4,000 ฟอง แสดงให้เห็นว่า กับดัก LeO-Trap จะสามารถลดปริมาณยุงลายในอีก 4 สัปดาห์หลังจากวางกับดักได้ประมาณ 1,000,000 ตัว (ยุงลายตัวเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 500 ฟอง) ซึ่งลดลงได้มากกว่าการจัดการด้วยวิธีทางกายภาพและสารเคมี ประมาณ 2.5 เท่า
“ทั้งนี้ ยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา และไข้ซิกา ในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากยุงลาย แหล่งเพาะพันธุ์อยู่ในภาชนะขังน้ำในบ้านและนอกบ้าน ส่วนยุงลายสวนมีแหล่งเพาะพันธุ์กว้างขวางมาก เช่น ขวดพลาสติก จานรองกระถางต้นไม้ โอ่ง ไห และในธรรมชาติกะลา กาบ ใบไม้ โพรงไม้ ตอไม้ไผ่ อีกทั้งยังบินได้ไกลเกิน 500 เมตร ทำให้ยากต่อการกำจัด ดังนั้น หากสามารถหาวิธีล่อมากำจัดในกับดักได้จะลดปริมาณยุงลายได้อย่างมหาศาล” นพ.สุขุม กล่าว