สธ.ย้ำ ‘หน้ากากอนามัย’ เหมาะสำหรับคนป่วย คนแข็งแรงใช้ได้ ดีกว่าไม่ป้องกันเลย

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงข้อกังวลกรณีการใช้หน้ากากอนามัยที่เหมาะสม หลังจากมีรายงานในต่างประเทศว่าการใช้หน้ากากอนามัยในผู้ที่ยังไม่มีอาการป่วย จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า หน้ากากอนามัยมีหลากหลายรูปแบบมาก แต่สามารถแบ่งได้ 3 แบบคือ 1.หน้ากาก N95 สามารถป้องกันได้ดีที่สุด หากมีการใช้ที่ถูกต้อง โดยเน้นใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ดูแลผู้ป่วยในห้องความดันลบ ผู้ทำหน้าที่ดูดเสมหะผู้ป่วย เป็นลำดับแรกที่ห้ามขาดแคลน 2.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เดิมใช้ในการผ่าตัดที่ต้องเปรอะเลอะเลือดขณะปฏิบัติงาน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มที่ 1 และสำหรับผู้ป่วยทางระบบทางเดินหายใจทุกโรค ที่มีการแพร่เชื้อทางละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย จึงจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน และ 3.หน้ากากแบบผ้า ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่าสามารถป้องกันได้หรือไม่ หากจะเทียบระดับการป้องกันโรคกับ 2 แบบแรกในแบบนี้อาจจะเทียบไม่ได้ แต่เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย ใช้หน้ากากผ้าก็ถือว่ามีประโยชน์ดีกว่าไม่มีการป้องกันเลย

นพ.โอภาสกล่าวว่า ประชาชนโดยทั่วไป ขอให้ใช้หน้ากากแบบผ้า เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่หากมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น ก็สามารถใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ การรายงานในต่างประเทศว่า ผู้ที่ไม่ป่วยแล้วสวมใส่หน้ากากอนามัยจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อนั้น สามารถอธิบายได้ว่าการใช้งานต่างๆ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและการใช้งานที่ถูกวิธี เพราะหากใช้งานไม่ถูกวิธีก็ไม่สามารถป้องกันได้

“อย่างไรก็ตาม การป้องกันเบื้องต้นก็ดีกว่าการที่ไม่ป้องกันอะไรเลย การใช้หน้ากากแบบผ้ามีข้อดีคือ สามารถทำได้เอง ซักล้างได้ ลดปัญหาขยะติดเชื้อ และส่วนการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ผู้ที่ใช้ควรจะมีการกำจัดให้ถูกต้อง อย่านำไปทิ้งตามที่สาธารณะ เพราะจะเป็นการเพิ่มเชื้อโรคต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” นพ.โอภาสกล่าว

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

Advertisement

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หน้ากากอนามัยที่ทำจากทิชชู สามารถป้องกันได้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า แผ่นทิชชูไม่ได้อยู่ในมาตรฐานของการป้องกันโรค เนื่องจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์โดยหลักแล้วจะมีตัวกรอง และแผ่นเคลือบภายนอกสามารถดูดซับความชื้นได้

เมื่อถามถึงกรณีผู้ที่นำหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบที่ใช้แล้วมาบรรจุขายใหม่ กรณีนี้มีการตรวจสอบอย่างไรและมีบทลงโทษอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ข้อมูลระบุว่าหน้ากากเหล่านั้นไม่ได้มาจากในโรงพยาบาล เพราะหากนำมาจากภายในโรงพยาบาลจะถือเป็นขยะติดเชื้อ ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุขฯ โอกาสติดเชื้อรุนแรงมีต่ำแต่อย่างไรก็ไม่เหมาะสมและเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image