ป่วยโควิด-19 พุ่ง “กรุงเทพธนาคม” จัดชุด ฉก.เข้าจัดเก็บขยะติดเชื้อใน 7รพ.ทั่วกรุง

ป่วยโควิด-19 พุ่ง  “กรุงเทพธนาคม” จัดชุด ฉก.เข้าจัดเก็บขยะติดเชื้อใน 7 รพ.ทั่วกรุง ยันเผากำจัดทันที กำชับเจ้าหน้าที่ทำงานรัดกุมทุกขั้นตอน

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคทีวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งบริษัทฯ ในฐานะผู้ดำเนินการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดเก็บขยะจากผู้ป่วยโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มมีการพบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จากในช่วงแรกที่มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1–2 แห่ง ขณะนี้ มีสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวม 7 แห่ง โดยทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ฝั่งพระนคร ซึ่งมีรถของบริษัทฯไปจัดเก็บและนำเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่อ่อนนุช

Advertisement

นายมานิต กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในการกำจัดขยะติดเชื้อโดยทั่วไปก็มีขั้นตอนการจัดเก็บที่ต้องมีความระมัดระวังและมีมาตรฐานในการจัดการขยะที่ต้องรัดกุมมากกว่าขยะทั่วไปอยู่แล้ว แต่กรณีของโรคโควิด–19 นั้น เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษา ดังนั้น บริษัทฯจึงกำหนดมาตรการเพิ่มเติม โดยจัดชุดเฉพาะกิจ ซึ่งแยกเจ้าหน้าที่และรถในการจัดเก็บขยะจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ปะปนกับการจัดเก็บติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่ามีขยะของผู้ป่วยโควิด-19 ก็จะเข้าไปดำเนินการจัดเก็บทันที ต่างจากขยะติดเชื้อทั่วไปที่มีกำหนดรอบเข้าจัดเก็บ

“ขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นคือ ก่อนที่จะนำรถเก็บขยะออกไปเจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมชุดป้องกันการสัมผัสขยะเชื้อโรคทุกส่วนของร่างกาย และเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค นำติดรถไปด้วย เมื่อถึงสถานพยาบาลจะสวมชุดป้องกัน และฉีดพ่นน้ำยาที่ตัวเจ้าหน้าที่ ฉีดพ่นน้ำยาที่รถ ฉีดพ่นน้ำยาที่ขยะ จากนั้นนำขยะขึ้นรถและเจ้าหน้าที่ต้องถอดชุดทิ้งไปกับถุงขยะด้วย ซึ่งรถจัดเก็บขยะของบริษัทฯจะปิดทึบทั้งหมดและควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส และเมื่อขยะมาถึงโรงงาน เจ้าหน้าที่จะสวมชุดป้องกันชุดใหม่ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเช่นเดียวกับกับขั้นตอนการเก็บขยะ จากนั้นนำขยะเข้าสู่กระบวนการเผา โดยถอดชุดป้องกันในขั้นตอนนี้เผาไปพร้อมขยะด้วยเช่นกัน และมีการฉีดพ่นน้ำยาที่ตัวของเจ้าหน้าที่อีกครั้งถึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งนี้ในการกำจัดขยะติดเชื้อ จะเป็นเตาเผาระบบปิด ทำการเผา 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก จะเผาโดยความร้อนที่อุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียส จากนั้นเป็นขั้นตอนการเผาควันและก๊าซพิษ ที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส โดยเศษเถ้าขยะที่เหลือจะนำไปฝังกลบโดยมีเอกชนนำไปดำเนินการตามมาตรฐานต่อไป” นายมานิต กล่าว

Advertisement

นายมานิต กล่าวว่า จากการตื่นตัวของประชาชนในการป้องกันโรคระบาดในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการประสานงานกับ กทม.อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีขยะติดเชื้อทั่วไปเฉลี่ยวันละ 40 ตัน ที่บริษัทฯ ดำเนินการจัดเก็บจากโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก โรงพยาบาลสัตว์ และสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีสถานพยาบาล ครอบคลุม 5,322 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งจากสถานการณ์ของโรคที่มีแนวโน้มผู้ป่วยและผู้ที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้นนี้ บริษัทฯได้ให้ความสำคัญกับขยะหน้ากากอนามัยที่ปัจจุบันมีประชาชนใช้งานกันมากขึ้น ซึ่งหากสำนักงานเขตต่างๆ มีการจัดเก็บแยกจากขยะทั่วไป บริษัทฯ ก็พร้อมดำเนินการกำจัดเช่นเดียวกับขยะติดเชื้อ โดยขณะนี้ได้เตรียมถังรองรับขยะหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ ไว้ที่ศูนย์กำจัดขยะติดเชื้อของบริษัทฯทั้งที่ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช และที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม จึงขอให้มั่นใจในกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน ขอให้ประชาชนระมัดระวังดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยของตนเองและบุคคลรอบข้าง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image