‘มจพ.’ จับมือ ‘บึงกาฬ’ เตรียมเปิดตัวถนนยางพาราสายเเรก เผยลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 15 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารนวมินทรราชินี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องนวัตกรรมการสร้างถนนลาดยางพาราโพลิเมอร์ดินซีเมนต์ เทคโนโลยีเเละนวัตกรรมก้าวล้ำสมัยในการสร้างถนนรูปแบบใหม่แห่งเเรกในประเทศไทย ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับจังหวัดบึงกาฬ เเละองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ

โดยมี นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, นายชัยธวัช เนียมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ, นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีตัวเเทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

นายธีรวุฒิ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของ มจพ.และจังหวัดบึงกาฬ ที่ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีนายพินิจ จารุสมบัติ เป็นสักขีพยาน และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งการลงนามจะมีความร่วมมือทางวิชาการทุกด้าน โดยเฉพาะนวัตกรรมถนนยางพาราโพลิเมอร์ดินซีเมนต์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่คิดค้นโดยอาจารย์ของ มจพ.

“สำหรับความร่วมมือจะมีการสร้างถนนยางพารารูปแบบใหม่ ที่จังหวัดบึงกาฬ จะเป็นถนนยางพาราที่ใช้งานจริงแห่งแรกของประเทศไทย โครงการนำร่องนี้จะเป็นตัวอย่างการทำถนนให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศ และเบื้องต้นได้นำเรียน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเเล้ว ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะพล.อ.ประวิตร ที่ให้ทหารที่จังหวัดปราจีนบุรี มาช่วยเหลือการทดสอบโครงการนำร่องถนนยางพาราโพลิเมอร์ดินซีเมนต์ ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี” นายธีรวุฒิ กล่าว

Advertisement
จากซ้าย นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ ,นายพินิจ จารุสมบัติ
จากซ้าย นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ ,นายพินิจ จารุสมบัติ

นายพินิจ กล่าวว่า ความร่วมมือของ มจพ.และจังหวัดบึงกาฬ ถือว่าเป็นโครงการแบบอย่างที่เริ่มต้นของประชารัฐ ตามที่ท่าน ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวที่งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นความสำเร็จที่เริ่มต้นจากการจัดงานเล็กๆ ของจังหวัดบึงกาฬกับเครือมติชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการจุดประกายในสถาบันการศึกษาเข้าร่วม

“ซึ่งคณะจาก มจพ.ที่ได้เข้าร่วมตั้งแต่ปีแรกๆ ได้รับเอาการบ้านของประชาชนไปคิดว่า จะทำอย่างไรจะแปรรูปยางพาราตามนโยบายของรัฐบาลที่มีมาหลายยุคเรื่องการแปรรูปวัตถุดิบ ในที่สุดเมื่อต้นปี ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี จาก มจพ.ได้ประกาศความสำเร็จ ในการคิดค้นการทำถนนจากยางพาราที่มีคุณภาพ มีความแข็งแรง ปลอดฝุ่น และลดต้นทุนการก่อสร้างลงได้ครึ่งหนึ่ง วันนี้ถือว่าเป็นการประกาศผลสำเร็จที่รับรองได้ทางวิชาการว่าเอาสูตรนี้ไปทำถนนยางพาราจะมีความแข็งแรงมั่นคงและปลอดภัย ที่สำคัญใช้ปริมาณยางพาราถึง 20%” นายพินิจกล่าว

นายพินิจ กล่าวอีกว่า การลงนามความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นการพลิกโฉมประเทศ ถ้าถนนทั่วประเทศนำยางพาราไปใช้ จะทำให้ยางพาราทั่วประเทศที่ผลิตถูกนำไปใช้มากกว่าล้านตัน จะดึงเอาวัตถุดิบจากเกษตรกรไปสู่การใช้งาน ก็อาจจะช่วยผลักดันเรื่องของราคายางพาราให้เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย

Advertisement
บรรยากาศการลงนามความร่วมมือ
บรรยากาศการลงนามความร่วมมือ

ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า สำหรับการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เนื่องจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้มีการใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีใหม่ คิดค้นการก่อสร้างถนนโดยใช้ยางน้ำยางพารา น้ำยางสด กับซีเมนต์ แล้วก็ดินลูกรังเป็นวัตถุดิบในการสร้างถนนขึ้นมา ซึ่งเมื่อเรามีการเปรียบเทียบกันดูแล้ว การสร้างถนนคอนกรีต ใช้งบประมาณมากกว่าถนนยางพาราประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วถนน 1 เส้น ความกว้าง 6 เมตร ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้น้ำยางประมาณ 1,200 กิโลกรัม

“เพราะฉะนั้นก็เห็นอย่างชัดเจน ถ้าเราทำตรงนี้เราจะประหยัดงบประมาณได้เยอะมาก และใช้น้ำยางพาราอีกปริมาณมาก แล้ววันนี้การลงนามความร่วมมือระหว่าง มจพ. จังหวัดบึงกาฬ และอบจ.บึงกาฬ เพื่อที่จะไปทำโปรเจ็กต์ถนนยางพาราที่จังหวัดบึงกาฬ โดยที่มีเป้าหมายไว้ว่า จะทำอย่างน้อย 1 สาย ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อจะรองรับกับงานยางพาราที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า หลังจากถนนเส้นแรกเสร็จแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกรมโยธาธิการจะเป็นเจ้าภาพ ได้มีการพิสูจน์ทดสอบถ้าผลออกมาแล้วว่า ความทนทานก็ตาม ความคุ้มประโยชน์ในการใช้งานก็ตาม เท่ากับหรือมากกว่าถนนคอนกรีต หรือถนนลาดยาง ก็จะขยายโครงการทำถนนยางพาราไปทั้งจังหวัดบึงกาฬ แล้วก็หวังในอนาคตหากเราทำสำเร็จ ท้องถิ่นทั่วประเทศอีก 75 จังหวัด จะมานำผลการดำเนินการนี้ไปขยายผลต่อ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนอกจากถนนราคาถูกลงครึ่งหนึ่งแล้ว เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศจะได้รับผลอย่างชัดเจนที่สุดด้วย

“ตอนนี้ยางพาราถือเป็นปัญหาของประเทศไทยเลย เกษตรกรได้รับผลกระทบมาก ถ้าเรานำบริบทนี้มาใช้นำร่องโครงการ เชื่อว่าปัญหายางพาราในเบื้องต้น น่าจะได้รับการแก้ไขโดยที่รัฐบาลไม่ต้องมาลงทุน สำหรับถนนยางพาราสายแรกเบื้องต้นอาจจะทดลองทำถนนสายแรกที่ อ.เซกา เนื่องจากเป็นอำเภอที่ใหญ่ที่สุด แล้วปัญหามากที่สุดของอำเภอนี้คือปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องเครือข่ายเส้นทางในหมู่บ้าน”

จากซ้าย นายชัยธวัช เนียมศิริ , นายนิพนธ์ คนขยัน
จากซ้าย นายชัยธวัช เนียมศิริ , นายนิพนธ์ คนขยัน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมาลงนามในวันนี้ นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เชิญ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล รวม 60 แห่ง มาพุดคุยกัน ทุกคนรู้สึกว่าคนบึงกาฬโชคดีที่ทาง มจพ. โดยการประสานจากท่านพินิจ มาร่วมลงนามความร่วมมือ

“ถามว่าโชคดีอย่างไร วันนี้ยางก้อนถ้วยกิโลละ 25 บาท แต่สเปคการทำถนนจากน้ำยางพาราวันนี้ กำหนดราคาซื้อน้ำยางสดกิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งเทียบเท่ากับยางก้อนถ้วย 50 บาททำให้เกษตรกรมีเงินเพิ่มขึ้น แล้วที่สำคัญคือ ถนนกว้าง 6 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร ถ้าเป็นถนนคอนกรีตที่ท้องถิ่นทำอยู่ขณะนี้ใช้งบประมาณ 3,120,000 บาท แต่ถ้าใช้ยางพาราใช้งบประมาณ 1,500,000 บาท ถูกกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้ถนนที่ปลอดฝุ่นดีต่อสุขภาพ”

“ผมเคยเถียงกับท่านพินิจว่าจะไม่จัดงานวันยางพารา เพราะงบส่วนหนึ่งของการจัดงานเป็นงบของ อบจ. โดยเฉพาะเมื่อราคายางตกต่ำ 4-5 กิโลกรัม 100 บาท แต่สุดท้ายก็จัดพอถึงวันนี้ต้องขอบคุณ มติชน เพราะถ้าไม่จัดงาน ไม่ออกข่าว ต่างประเทศก็ไม่ได้มาร่วมงาน มจพ.ก็คงไม่ได้ลงมาที่นี่ แล้ววันนี้ก็คงไม่ได้ลงนามความร่วมมือครั้งนี้” นายนิพนธ์กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ในนามท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะรอแบบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง หากออกแบบเสร็จเมื่อไหร่ ทั่วประเทศพร้อมนำถนนยางพาราไปใช้ โดยบึงกาฬจะนำร่องและอีก 76 จังหวัดที่มีนายก อบจ. พร้อมที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้

เอ็มโอยู บึงกาฬ

เอ็มโอยู บึงกาฬ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image