สกู๊ปหน้า 1 : 6 พื้นที่อันดามัน ครม.ออกแรงดัน ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

สกู๊ปหน้า 1 : 6 พื้นที่อันดามัน ครม.ออกแรงดัน ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.กระบี่ เมื่อ 16 พ.ย.2564 ได้เห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีพื้นที่ 6 อุทยาน และ 1 พื้นที่ป่าชายเลน ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง พังงา และภูเก็ต

นายจิรศักดิ์ จารุศักดาเดช หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง ระบุว่า ทางอุทยานเตรียมความพร้อมเรื่องนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองอยู่ในพื้นที่ อ.เมืองระนอง ประกอบด้วย ป่าบก 13,243 ไร่ ป่าชายเลน 73,607 ไร่ พื้นน้ำ 136,088 ไร่ มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ โดดเด่น สวยงาม พบสัตว์หายากหลายชนิด เช่น ชะนีมือขาว ค้างคาวแม่ไก่เกาะ และเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นโกงกางยักษ์อายุกว่า 200 ปี ตรวจสอบพื้นที่ไม่พบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใกล้กับโกงกางยักษ์ของประชาชน และได้มีการดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บำรุงรักษา และควบคุมการใช้ประโยชน์ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ส่วน นายปรีชา เฝือคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสน กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง มีพื้นที่ครอบคลุม อ.เมืองระนอง อ.กะเปอร์ อ.สุขสำราญ จ.ระนอง และ อ.คุระบุรี จ.พังงา เนื้อที่ 315 ตารางกิโลเมตร โดยมีหาดบางเบนและหาดแหลมสน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เพราะร่มรื่นไปด้วยป่าสนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นที่อยู่ของนกนานาชนิด อีกทั้งยังมีหาดทรายขาวละเอียดเป็นแนวยาวและกว้างใหญ่ มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก โดยอุทยานแห่งชาติแหลมสนจะมีลักษณะเป็นชายฝั่งจมตัว ก่อให้เกิดชายหาดตลอดแนวฝั่งแคบ มีลำน้ำสายสั้นๆ ขนาดเล็กจำนวนมาก อาทิ คลองลัดโนด คลองขะนุด และคลองบางเบน ซึ่งลำคลองเหล่านี้เป็นพื้นที่ทำมาหากินของประมงชายฝั่ง เนื่องจากอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำ และถูกปกคลุมไปด้วยป่าโกงกาง จนเกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรเป็นอย่างมาก และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ เช่น เต่าหญ้า ด้วย

Advertisement

ดร.วิจารณ์ มีผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ป่าชายเลนที่ 3 (ระนอง) กล่าวว่า ป่าชายเลนระนองมีความสำคัญมาก ในขณะนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ถึง 2 สถานะ คือ พื้นที่สงวนชีวมณฑล และพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นป่าชายเลนที่ไม่มีการเข้าไปใช้ประโยชน์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก พบสัตว์ต่างๆ ในพื้นที่มากกว่า 500 ชนิด เป็นแหล่งที่มีความสำคัญในการรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม

ลักษณะของป่าโกงกางชายฝั่งทะเลเป็นแนวป้องกันลม คลื่น และพายุ รวมถึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด เป็นบริเวณที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันได้เป็นแบบอย่างของการค้นคว้าวิจัยให้กับพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งยังพบต้นโกงกางยักษ์ และต้นแสมยักษ์อายุมากกว่า 200 ปีอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีที่ป่าชายเลนระนองจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกเสนอให้เป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน สำหรับ จ.พังงา เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ลักษณะเด่นคือ แนวปะการังขนาดใหญ่ที่ก่อตัวต่อเนื่องกัน จัดได้ว่ามีการพัฒนาสูงสุดในประเทศไทย จึงเป็นแหล่งดำน้ำที่สวยงามและมีชื่อเสียงระดับโลก

อีกพื้นที่คืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อ.คุระบุรี จ.พังงา มีปะการังหลายชนิดที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ เป็นแนวปะการังน้ำลึกและเป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลหายาก เช่น กระเบนราหู วาฬหัวทุย และโลมา และอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เป็นแหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่ามะเฟืองที่เหลืออยู่ฝั่งอันดามัน พบว่าตอนนี้เพียง 3 ที่ที่เต่ามะเฟืองจะขึ้นมาวางไข่คือ อุทยานสิรินาถ ชายหาดเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง และเกาะพระทอง หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ลำดับที่ 43 ในปี พ.ศ.2525 มีขนาดพื้นที่ 128 ตารางกิโลเมตร (80,000 ไร่) และในปี 2541 ได้ผนวกพื้นที่บริเวณ “เกาะตาชัย” เพิ่มอีก 12 ตารางกิโลเมตร เข้าเป็นอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่เกาะและห้วงน้ำทะเลรอบเกาะที่มีปะการังสมบูรณ์ ในท้องที่เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร (87,500 ไร่) สำหรับหินที่พบในหมู่เกาะสิมิลัน ทั้ง 9 เกาะ เป็นหินอัคนีชนิด granite

Advertisement

ขณะที่เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2514 กรมป่าไม้ได้ประกาศให้พื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันและอยู่ติดชายแดนประเทศเมียนมา ห่างจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทยประมาณ 70 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ และเกาะกลาง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มีเนื้อที่ประมาณ 84,375 ไร่ หรือ 135 ตารางกิโลเมตร หมู่เกาะสุรินทร์เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล ประกอบกับทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงาม

นายหฤษฎ์ชัย ฤทธิช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง กล่าวว่า พื้นที่อันดามันตอนเหนือใกล้เคียงที่จะได้รับการเสนอเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอ ได้รับการศึกษามาตั้งแต่ จ.ระนอง พื้นที่ป่าชายเลน กระบุรีลงมา อุทยานแห่งชาติแหลมสน ไล่มาจนถึงอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เพราะว่าพื้นที่หลายๆ จุดมีความโดดเด่นทางสภาพธรรมชาติมีความสำคัญเป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าสงวน โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้รับการขนานนามว่าเป็นพื้นที่ป่าชายหาดที่สมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นพื้นที่ที่สัตว์ทะเลหายากคือเต่ามะเฟือง เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 18 ขึ้นมาวางไข่เป็นประจำทุกปีและเป็นแหล่งอาศัยของเต่ามะเฟืองอีกด้วย จึงควรจะได้รับความคุ้มครองระดับประเทศและไปจนถึงระดับโลก

สำหรับอุทยานแห่งชาติเขาลำปี “หาดท้ายเหมือง” มีเนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 72 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.ลำแก่น ต.ทุ่งมะพร้าว ต.ท้ายเหมือง ต.บางทอง และ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็น 2 ส่วน โดยมีถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เป็นเส้นแบ่ง คือ บริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน มีชายหาดยาวประมาณ 13.6 กิโลเมตร และบริเวณเทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบ โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตั้งอยู่บริเวณหาดท้ายเหมือง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากประเทศไทยจัดส่งเอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้น พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ให้ศูนย์มรดกโลกได้ภายในวันที่ 15 เมษายน 2565
จะได้รับการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 45 เพื่อให้การรับรองการเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกและจะสามารถจัดส่งเอกสารการนำเสนอเป็นมรดกโลกได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image