โควิดไทยเข้าโรคประจำถิ่น เฟส 1 เริ่มแล้ว! สธ.จ่อชง ศบค.ผ่อน T&G

โควิดไทยเข้าโรคประจำถิ่น เฟส 1 เริ่มแล้ว! สธ.จ่อชง ศบค.ผ่อน T&G

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ในระยะนี้ ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าแพร่เชื้อได้ง่าย แต่ความรุนแรงไม่ได้มากกว่าเดิม จำนวนการติดเชื้อรายใหม่ยังทรงตัวต่อเนื่อง ไม่เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ลดลง เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้

“ดังนั้น เราต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม แผนการเตรียมปรับให้โควิด-19 เปลี่ยนจากการระบาด (Pandemic) เป็นระยะเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) กรอบเวลา 4 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม เป็นต้นไป ทั้งหมด 4 ระยะ โดยขณะนี้ถือเป็นระยะที่ 1 หรือคอมแบตติ้ง (Combatting) สิ่งที่เราจะทำคือ การปรับเป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อ เนื่องจากสถานการณ์ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แต่เราจะมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อปรับอัตราเสียชีวิตให้ลดลง ก็จะมีมาตรการรณรงค์ออกมา และการปรับมาตรการดูแลรักษา จะเน้นการรักษาในกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นพ.โอภาส กล่าวและว่า เน้นย้ำการเฝ้าระวังในกลุ่มที่เราต้องการ ไม่ใช่ดูเพียงการติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ก่อนจะมีการประชุมกันอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 18 มีนาคมนี้ สธ.โดยกรมควบคุมโรคจะมีการเสนอปรับมาตรการอย่างไร โดยเฉพาะกิจกรรมที่ยังถูกล็อกไว้ นพ.โอภาส กล่าวว่า ยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่าประชุมวันใด แต่ส่วนใหญ่กิจกรรมสังคมก็ดำเนินการได้เป็นปกติเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงสถานบันเทิง ประเภทผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ยังขอให้ปิดอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการก็ปรับมาเป็นรูปแบบร้านอาหารแล้ว จึงขอเน้นย้ำมาตรการ DMHTT ว่ายังมีความสำคัญ ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง

เมื่อถามว่า ในส่วนของมาตรการเดินทางเข้าประเทศ จะมีการปรับผ่อนคลายอย่างไร เนื่องจากชาวต่างชาติมองว่า เงื่อนไขของประเทศไทยมีมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าประเทศยังสูง นพ.โอภาส กล่าวว่า กรรมการวิชาการอยู่ระหว่างหารือในเรื่องนี้ เพื่อปรับให้เหมาะสม

Advertisement

“แต่ส่วนใหญ่ที่เข้ามาก็จะผ่านระบบ Test and go แบบไม่เข้าระบบกักตัวแล้ว เราก็จะให้ทางกรรมการวิชาการดูสถานการณ์ในต่างประเทศที่เริ่มดีขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาว่าเราจะผ่อนอะไรได้บ้าง คาดว่าสัปดาห์นี้จะได้คำตอบ” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image