ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน BA.4 ชี้แพร่เร็ว แม้อาการไม่ต่างเดิม สธ.เปิด 4 เฟสโรคประจำถิ่น

ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน BA.4 ชี้แพร่เร็ว แม้อาการไม่ต่างเดิม สธ.เปิด 4 เฟสโรคประจำถิ่น

วันนี้ (22 เมษายน 2565) ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในรายการโควิด ฟอรัม (Covid Forum) ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงประเด็น “นับถอยหลังโควิด สู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย” ว่า สาเหตุที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามเดินหน้าให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ต้องคำนึง 3 สิ่ง ที่หากดึงไปส่วนใดมากเกินก็จะเสียสมดุล คือ แพทย์และสาธาณสุข เศรษฐกิจ และสังคม-สุขภาพจิต

“ช่วงแรกที่ล็อกดาวน์ (lockdown) ประเทศ เราให้สาธารณสุขเป็นใหญ่ แต่ตอนนี้ต้องคำนึงถึงสุขภาพจิตของคนไปจนถึงเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลกสนับสนุนว่า ในที่สุดจะต้องเป็นโรคประจำถิ่น โดยให้คำจำกัดความสั้นๆ ว่า สามารถลดระดับได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบสาธารณสุขแต่ละประเทศ เตียงไม่ล้น และเน้นย้ำว่า ต้องเข้าถึงวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอย่างน้อย ร้อยละ 70 และยาต้านไวรัส ติดแล้วต้องรักษาทันท่วงที” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า ธรรมชาติของไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ที่ระบาดได้รวดเร็วกว่าก็จะเป็นตัวกลายพันธุ์มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา เบต้า แอลฟา เดลต้า สูญพันธุ์ไปแล้ว ขณะนี้เป็นเชื้อโอมิครอนที่มีลูกผสมกับสายพันธุ์อื่น เรียกว่า ตระกูล “X” ซึ่งโอมิครอนที่องค์การอนามัยโลกจับตามองคือ BA.4 ที่มีการกลายพันธุ์ต่างจากอู่ฮั่นประมาณ 80 ตำแหน่ง

Advertisement

“สายพันธุ์ที่มีจุด (.) อาการทางคลินิกไม่ต่างจากโอมิครอน วัคซีนยังได้ผล แต่เมื่อไรก็ตามที่เริ่มเห็นความต่าง ก็จะมีการตั้งชื่อเป็นสายพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกคาดฉากทัศน์การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ไว้ 2 รูปแบบ คือ 1.ไวรัสไม่มีการกลายพันธุ์ ค่อยๆ หายไป 2.กลายพันธุ์แล้วอาการรุนแรง จำเป็นต้องพัฒนายาและวัคซีนต่อไป” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพฯ กล่าวว่า สำหรับการดูแลผู้สูงอายุเพื่อนับถอยหลังเข้าสู่โรคประจำถิ่น สิ่งสำคัญคือ ต้องมีเตียงรองรับผู้สูงอายุเพียงพอ ระบบสาธารณสุขจึงเป็นคีย์สำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแลทันที ตนมองว่าหากอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ ร้อยละ 0.1-0.2 น่าจะสามารถรองรับได้ แต่ปัจจัยหลักของการสูญเสียในกลุ่มสูงอายุคือ เพิ่งทราบว่าติดเชื้อแล้วรักษาไม่ทัน ดังนั้น หาก สธ.มีช่องทางพิเศษในกลุ่มนี้ก็จะลดความสูญเสียได้

Advertisement

“การเป็นโรคประจำถิ่น เราจะดูเกณฑ์การเสียชีวิตมากกว่าการติดเชื้อ ดังนั้น หากมีการรักษา มียาใหม่ๆ เข้ามา ก็จะลดอัตราเสียชีวิตได้ เป็นจุดเปลี่ยนเกม ดังนั้น รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการนำเข้ายาในราคาที่ถูก รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิทธิบัตรเพื่อซื้อเคมีภัณฑ์ให้มีการผลิตได้ในประเทศ” นพ.ฆนัท กล่าว

ด้าน นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน) กรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า สำหรับการทำโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีการทำแผน 4 ระยะ เพื่อกำหนด 4 มาตรการที่เข้มข้นต่างกัน เรียกว่า 4×4 คือ 1.ระยะ Combatting (มีนาคม) การลดอัตราติดเชื้อ 2.ระยะ Plateau (เมษายน-พฤษภาคม) เริ่มอยู่ขาลง 3.ระยะ Declining (พฤษภาคม-มิถุนายน) สถานการณ์ขาลงจริงๆ และ 4.ระยะ Post Pandemic (วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป) ขณะที่ 4 มาตรการ ได้แก่ ระบบสาธารณสุข การแพทย์ กฎหมาย และ การสื่อสาร ทั้งที่มาตรการสำคัญคือ วัคซีนโควิด-19 เน้นคัดกรอง และการอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อให้เราก้าวไปสู่โรคประจำถิ่นในช่วงเดือนกรกฎาคม แต่สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดสำคัญคือ การติดเชื้อและเสียชีวิตไม่มากนัก หรือมีการกลายพันธุ์ที่อาการทางคลินิกน้อยลงกว่าเดิม ความสูญเสียเท่าๆ กับโรคประจำถิ่นอื่น เช่น โรคไข้เลือดออก

“สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันแนวโน้มทั่วโลกลดลง แต่เอเชียรวมถึงประเทศไทยยังสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนเรียนรู้ในการดูแลตัวเอง ตรวจ ATK หากมีอาการน้อยก็รักษาที่บ้าน (HI) มีอาการมากก็เข้าสถานพยาบาล ทั้งนี้การติดเชื้อที่พบหลัก 20,000 ราย เราจะรู้ว่าตัวเลขน้อยกว่าความเป็นจริง แต่ที่เรากังวลคือ การใช้เตียง โดยเฉพาะกลุ่มปอดอักเสบที่มีโอกาสเสียชีวิต โดยข้อมูล 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 95 ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้เข็มกระตุ้น รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ด้วย” นพ.อนุพงศ์ กล่าว

นพ.อนุพงศ์ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดและโรคประจำถิ่น จะต้องเล่าว่าเดิมโควิด-19 ถูกบรรจุเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ดังนั้น จะต้องมีการแก้กฎหมายให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งสถานะทางกฎหมายจะลดลงตามลำดับ จึงต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร หรือ ศบค. ก็จะไม่มีอำนาจแล้ว แต่จะต้องมีการดูแลในรูปแบบโรคติดต่อ มีการติดตามสอบสวนโรคในคลัสเตอร์ใหญ่ มีการรายงาน เฝ้าระวังโดยสถานพยาบาล ฉะนั้น เราจะต้องเรียนรู้อยู่กับโรค การ์ดต้องไม่ตก เพื่อให้เราค่อยๆ ขยับมาตรการออกไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image