เครือข่ายลดอุบัติเหตุเปิดเวทีถกคาร์ซีท ฮูชี้ไทยใช้น้อย หมอยันใช้ถูกต้องเซฟชีวิตเด็กได้

เครือข่ายลดอุบัติเหตุเปิดเวทีถกคาร์ซีท ฮูชี้ไทยใช้น้อย หมอยันใช้ถูกต้องเซฟชีวิตเด็กได้

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2565) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดเวทีสาธารณะ “คาร์ซีท คาใจ เลือกแบบไหนเพิ่มความปลอดภัยให้ลูก” ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยรับฟังข้อมูล ข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (คาร์ซีท) หลังจากมีประกาศราชกิจจานเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เรื่อง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ในมาตราที่ 123 ระบุว่า ในขณะขับรถยนต์ เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และคนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 2,000 บาท และจะมีผลใช้บังคับในอีก 120 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ข้อมูลจากเวทีดังกล่าว สคอ.จะรวบรวมจัดทำเป็นหนังสือนำเสนอไปยังศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนมาตรการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนต่อไป

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะสร้างความปลอดภัยให้ลูกโดยจัดให้มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าที่นั่งนิรภัยปลอดภัยสำหรับเด็ก 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) มีเด็กอายุ 0 – 6 ปีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 คน พบว่า 221 คน เกิดจากโดยสารรถยนต์ เฉลี่ยปีละ 44 คน โดยเด็กไทยใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เพียงร้อยละ 3.46 เท่านั้น ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กสามารถลดความสูญเสียหรือลดการเสียชีวิตของเด็กเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้มากถึงร้อยละ 70 จึงได้พยายามที่จะผลักดันให้ทุกประเทศให้ความสำคัญ

“พร้อมกันนี้ ยังได้ประเมินประเทศไทยว่ามีการใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กน้อยมากในแต่ละปี ทำให้เสี่ยงที่จะมีเด็กที่โดยสารในรถยนต์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เกือบ 1,000 ราย เกือบทั้งหมดไม่มีอุปกรณ์รัดตรึงขณะโดยสาร เมื่อเกิดเหตุเด็กจะกระเด็นกระแทกภายในรถยนต์ กระจกหรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ ซึ่งต่อจากนี้ รัฐควรต้องเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการต้องใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กอย่างจริงจัง” นายพรหมมินทร์ กล่าว

Advertisement

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี กล่าวว่า การเดินทางปลอดภัยต้องใช้เข็มขัดนิรภัยและที่นั่งนิรภัย เมื่อเกิดการชนกระแทกความเร็วของรถยนต์ลดลงอย่างกะทันหัน แต่ผู้โดยสารยังเคลื่อนที่ทำให้ชนกระแทกถูกโครงสร้างภายในรถยนต์หรือกระเด็นออกนอกรถ ดังนั้น การยึดเหนี่ยวไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ต่อเมื่อรถยนต์ถูกหยุดยั้งให้ลดความเร็วลงกะทันหัน จึงเป็นหลักการที่สำคัญในการสร้างความปลอดภัย

“ดังนั้น ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในการโดยสารรถยนต์ (child seat) จึงเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลลดการตายของเด็กจากการเดินทางด้วยรถยนต์อย่างมาก ซึ่งปี 1983 ได้มีการศึกษาพบว่า ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กทารกและเด็ก 1-4 ปี ถึงร้อยละ 69 ถ้าใช้อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกัน จะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กอายุมากกว่า 5 ปีได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงร้อยละ 50 (Charles,1986)( Hertz,1996)” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

Advertisement

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับข้อแนะนำ คือ 1.ที่นั่งนิรภัยต้องใช้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด และเด็กอายุ 2-6 ปี ควรใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็กที่มีที่ยึดเหนี่ยวในตัวนั่งหันหน้าไปด้านหน้า (forward facing seat) มีสายรัดตัวเป็นแบบยึดเหนี่ยวร่างกายเด็กไว้ 5 จุด 2.การอุ้มเด็กนั่งตักในเบาะหน้าคือจุดที่อันตรายที่สุดในรถ 3.เด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี ให้นั่งเบาะหลังเสมอ ความเสี่ยงต่อการตายจะลดลง 2 เท่าตัว 4.การใช้ระบบยึดเหนี่ยวในรถเป็นมาตรการลดการบาดเจ็บการตายที่สำคัญจากการกระเด็นทะลุกระจกหรือลอยจากที่นั่งตามความเร็วรถชนกระแทกโครงสร้างภายในรถหลังอุบัติเหตุรถชนหรือคว่ำ 5.เด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยให้เหมาะสมตามวัย และต้องยึดเหนี่ยวให้ถูกวิธี ตามคําแนะนําของแต่ละผลิตภัณฑ์ และ 6.เด็กที่จะใช้เข็มขัดนิรภัยได้เหมาะสมปลอดภัยก็ต่อเมื่อมีอายุ 9 ปีขึ้นไป หรือความสูงตั้งแต่ 135เซนติเมตรขึ้นไปเท่านั้น มิฉะนั้นเข็มขัดนิรภัยอาจกลายเป็นตัวการทำอันตรายต่อเด็กอย่างรุนแรงได้ ซึ่งระยะเวลา 120 วัน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ไม่ใช่เป็นเพียงเวลาที่ประชาชนต้องเตรียมตัวแต่เป็นเวลาที่รัฐ ชุมชน องค์กร บริษัท หน่วยงานบริการสุขภาพเด็ก หน่วยงานบริการการศึกษาเด็ก ปฐมวัย ต้องเตรียมตัว ต้องมีมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงที่นั่งนิรภัย

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การเลือกซื้อคาร์ซีท ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและใช้งานได้จริง เหมาะกับน้ำหนักของเด็ก ไม่แนะนำให้ซื้อสินค้ามือสองที่ไม่รู้ที่มาหรือเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่เห็นหรือสัมผัสตัวสินค้า โดยคาร์ซีทตามมาตรฐาน ECE requlation R44.04 มี 5 แบบ ได้แก่ 1.แบบRearward-facing จะวางที่เบาะและติดตั้งให้เด็กหันหน้าเข้าหาเบาะรถ เหมาะกับเด็กน้ำหนัก 0-13 กิโลกรัม 2.Extended rearward-facing คุณลักษณะเหมือนข้อ1 แต่มีฐานสามารถปรับเข้า-ออกได้เหมาะเด็กน้ำหนัก 9-2 กิโลกรัม 3.Forward-facing แบบ convertible ติดตั้งโดยให้เด็กหันหน้าไปทางหน้ารถ ถอดสายรัดออกได้ หรือใช้เข็มขัดเดิมของรถมาใช้ได้ เหมาะกับเด็กน้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม 4.High-back booster แบบหันไปข้างหน้ารถ รูปร่างเหมือนเบาะปกติ แต่จะมีส่วนป้องกันศีรษะ คอและลำตัว ไม่มีเข็มขัดในตัว ใช้เข็มขัดนิรภัยของรถในการคาดเหมาะกับเด็กน้ำหนัก 15-36 กิโลกรัม และ 5.Booster cushion เป็นคาร์ซีทที่เหมือนหมอนรองนั่งเสริม เพื่อให้คาดเข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถให้ปลอดภัยมากขึ้น เหมาะกับเด็กน้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม

“ทั้งนี้ หลังประกาศบังคับใช้ได้ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงทันที มีผลต่อการตัดสินใจและเลือกหาผลิตภัณฑ์มาใช้แบบที่ไม่อยากถูกปรับหรือทำผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เข้าถึงอุปกรณ์ ข้อมูลผลิตภัณฑ์ คุณภาพการใช้งาน กำกับราคาและมาตรฐานให้เข้าถึงมากขึ้น ซึ่งคาร์ซีทสำหรับเด็กเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อความปลอดภัยของเด็กที่ไม่มีสิทธิเลือกความปลอดภัยให้กับตนเอง แตกต่างกับผู้ใหญ่ที่สามารถเลือกความปลอดภัยให้กับตนเองได้ คงไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองหรือครอบครัวใดจะปฏิเสธความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ที่จะเป็นอุปกรณ์ป้องกันและเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กและลูกหลานตนเองเมื่อเจออุบัติเหตุได้” นายคงศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นางเบญจกร ทุ่งสุกใส แม่ผู้ประสบอุบัติเหตุ กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ครอบครัวได้ไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.สระบุรี ในรถเดินทางด้วยกัน 3 คน มีตนเองเป็นคนขับ ส่วนพ่อและลูกสาวนั่งเบาะหลัง ซึ่งน้องทาด้าลูกสาววัย 3 ขวบ นั่งอยู่บนคาร์ซีทสำหรับเด็ก และได้เกิดอุบัติเหตุเพราะไม่ชำนาญทางบวกกับถนนกำลังซ่อมแซม พอถึงทางโค้งหักศอก ตนเองตกใจเลยหักเลี้ยวกระทันหัน ทำให้รถไถลไปชนเสาไฟฟ้าข้างทาง

“ตอนนั้น ตกใจมากเพราะเป็นการขับรถชนครั้งแรกในชีวิต สิ่งแรกที่นึกถึงคือลูกจะปลอดภัยมั้ย แต่พอหันไปเห็นลูกที่นั่งบนคาร์ซีทไม่เป็นอะไรเลย เพราะมีเข็มขัดยึดตึงไว้ มีเพียงโยกเล็กน้อย ส่วนพ่อเด็กและตัวเองบาดเจ็บเล็กน้อยที่ขาและแขน เหตุการณ์นี้ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับครอบครัวตนเอง หากวันนั้นไม่มีคาร์ซีทให้ลูกนั่ง ลูกคงกระเด็นออกไปนอกรถแล้ว จึงอยากฝากให้พ่อแม่ที่มีลูกควรต้องมี ต้องซื้อติดรถ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับใครที่ไหนก็ได้ ไม่มีทางรู้ล่วงหน้า อย่าชะล่าใจว่าไม่เป็นไร อย่าประมาท คิดว่าตัวเองขับรถดีไม่ไปชนใคร แต่อาจจะมีคนอื่นมาชนเราแทนก็ได้ และการฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่เล็กสำคัญ จะทำให้คุ้นชิน ช่วยให้ลูกปลอดภัย หากเกิดเหตุจะมีโอกาสรอดสูง วันนี้ลูกเราอาจจะโชคดีที่ไม่เป็นอะไร แต่วันข้างหน้าหากเกิดอะไรขึ้นอีก แล้วเราไม่ป้องกัน ก็อาจสายไปแล้วก็ได้” นางเบญจกร กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image