รองผู้ว่าฯ ทวิดา เปิดโต๊ะถก ขรก.-ภาคี ขับเคลื่อนนโยบาย กทม.สุขภาพดี 100 วัน

รองผู้ว่าฯ ทวิดา เปิดโต๊ะถก ขรก.-ภาคี ขับเคลื่อนนโยบาย กทม.สุขภาพดี 100 วัน

วันนี้ (3 มิถุนายน 2565) ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสาธารณสุขและพัฒนาระบบปฐมภูมิกรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และเวชศาสตร์ครอบครัว และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม.และผู้แทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ผศ.ทวิดา กล่าวว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้กำหนดนโยบายด้านต่าง ๆ 214 ข้อ แบ่งเป็น 9 ด้าน หนึ่งในด้านนั้นคือ “สุขภาพดี” จำนวน 34 ข้อ เพื่อการดำเนินการด้านสุขภาพดีในทุกมิติ ทั้งกายภาพและระบบสร้างเสริมสุขภาพของคนทุกคนในกรุงเทพฯ พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนผ่านเครื่องมือ สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ให้เป็นเวทีกลางพัฒนาประเด็นสาธารณะสู่การปฏิบัติเป็นกระบวนการวิเคราะห์ช่องว่างหาความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ธรรมนูญสุขภาพในระดับเขต หรือกติกาชุมชนบางพื้นที่ เพื่อกำหนดเป็นทิศทาง โดยมุ่งเน้นให้กองทุนสุขภาพเขตสนับสนุนกลไกระดับชุมชนให้ขับเคลื่อนการทำงานในประเด็นของชุมชนเอง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ได้กำหนดให้เร่งกำหนดเป้าหมาย 100 วัน ให้เห็นผลในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว 4 ปี ต้องมีรูปธรรมเชิงระบบ ไม่เป็นนโยบายโปรเจ็กต์แล้วหายไป

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว จะดำเนินการผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าฯ กทม.ด้านสาธารณสุขและพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิกรุงเทพฯ ร่วมกับ สช., สสส., สปสช. แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและเวชศาสตร์ครอบครัว และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ รวมถึงเครือข่ายโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย รพ.สังกัดกระทรวงกลาโหม รพ.สังกัดกระทรวงมหาดไทย โรงเรียนแพทย์ คลินิกอบอุ่น และภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและระบบสุขภาพ โดยตั้งเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อน 5 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อน PCC คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพ PCC คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย รพ. 10-100 เตียง รพ.เมือง คณะกรรมการขับเคลื่อนระบบดูแลผู้สูงอายุ IMC palliative care และเวชศาสตร์เขตเมือง และคณะกรรมการขับเคลื่อน Sand box Area base

Advertisement

ผศ.ทวิดา กล่าวว่า เบื้องต้นคณะกรรมการขับเคลื่อน PCC (Primary Care Cluster : คลินิกหมอครอบครัว) จะดำเนินการระยะสั้น คือ ทำ PCC Sand box ในเขตหนองแขม เขตบางแค เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน และเขตภาษีเจริญ การดำเนินการระยะยาว คือ ขับเคลื่อน PCC club 6 กลุ่มคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับเขต (พชข.) คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพ PCC ดำเนินการระยะสั้น คือ การจัดทำมาตรฐานการประเมินคลินิกอบอุ่นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ภาคประชาชน ดำเนินการระยะยาว คือ พิจารณางบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย รพ. 10-100 เตียง รพ.เมือง ดำเนินการระยะสั้น คือ IMC Hospital + Hospital care ดำเนินการระยะยาว คือ ขยายเครือข่ายไปยัง รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน และ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ คณะกรรมการขับเคลื่อนระบบดูแลผู้สูงอายุ IMC palliative care จะดำเนินการระยะสั้น คือ 1.Community IMC 2. Home ward 3.IMC Hospital 4. Technology bed 5.โรงพยาบาล 10,000 เตียง จะดำเนินการระยะยาว คือ ขยายเครือข่ายไปยัง 6 กลุ่มเขต และสร้างศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองที่สมบูรณ์แบบ คณะกรรมการขับเคลื่อน Sand box Area base จะดำเนินการระยะสั้น คือ 1.สร้าง 1 ชุมชน 1 Community IMC ในเขตหนองแขม เขตบางแค เขตทวีวัฒนา เขตภาษีเจริญ 2.สร้าง 1 ชุมชน 1 Day care ในเขตหนองแขม เขตบางแค เขตทวีวัฒนา เขตภาษีเจริญ 3.Feeder (โครงการรถรับ-ส่งผู้สูงอายุและผู้พิการ + โครงการ Free Shuttle Van) 4.Telemedicine 5.ชมรมผู้สูงอายุ และ 6.กิจกรรมในศูนย์สร้างสุขทุกวัย จะดำเนินการระยะยาว คือ การขยายเครือข่ายไปยัง 6 กลุ่มเขต

“วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นขับเคลื่อนนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน คือ ด้านสุขภาพดี ด้วยความร่วมมือของผู้แทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมออกแบบ ปรับตัว วางระบบรูปแบบการทำงานร่วมกัน รวมถึงร่วมกันออกแบบโมเดล Sand box ให้เหมาะสมกับ กทม. และหน่วยงานต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป และในส่วนของโครงการที่สามารถดำเนินการได้เลยก็ขอให้ดำเนินการทันทีอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้นโยบายดังกล่าวเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด” ผศ.ทวิดา กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image