กทม.ขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทุกมิติ มุ่งคืนคนดีสู่สังคม

กทม.ขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทุกมิติ มุ่งคืนคนดีสู่สังคม

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์โควิด-19 พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเลขานุการปลัด กทม. ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)

พล.อ.ณัฐกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์โควิด-19 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะกรรมการ ทำหน้าที่ในการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ และวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด บำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พร้อมติดตามและกำกับดูแล ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางการดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 มีหลักการสำคัญในการเน้นการส่งผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจ โดยมอง “ผู้เสพ” คือ “ผู้ป่วย” เพื่อบำบัดรักษาให้ได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ไม่กลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก เป็นการคืนคนดีสู่สังคม โดยในวันนี้เป็นการประชุมหารือและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ด้าน นายขจิตกล่าวว่า กทม.จัดให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

Advertisement

1.จัดตั้งศูนย์คัดกรองของกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 แห่ง ซึ่งเปิดให้บริการเพื่อรองรับการนำส่งผู้ต้องสงสัยว่าเสพยาเสพติดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ (มาตรา 114) โดยศูนย์คัดกรองจะดำเนินการคัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต ตรวจหาสารเสพติดในร่างกายเพื่อประกอบการประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด พิจารณาส่งต่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

2.การให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของ กทม. ให้การบำบัดฟื้นฟู ตามมาตรา 113, 114, 168 และ ป.อ.ม.56 ใช้ระยะเวลาในการบำบัด 1-4 เดือน ให้บริการแบบผู้ป่วยนอก ให้การบำบัดด้านจิตสังคม BMA Matrix Model จำนวน 71 แห่ง ณ คลินิกก้าวใหม่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกก้าวใหม่ลาดพร้าว ศูนย์ซับน้ำตาผู้ติดยาเสพติด โรงพยาบาล (รพ.) ตากสิน และบริการแบบผู้ป่วยใน จำนวน 1 แห่ง ให้การบำบัดโปรแกรม The Winner House ณ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (บ้านพิชิตใจ)

3.การดูแลและบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐานและการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (CBTx&HR) ดำเนินการใน 50 เขต โดยมีผลการดำเนินงานผู้ดูแลผู้ที่ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2562-2565 รวม 134 ชุมชนใน 50 เขต โดยในปี 2566 มีแผนการขยายการดำเนินงานเพิ่มอย่างน้อยเขตละ 1 ชุมชน จำนวน 50 ชุมชน ใน 50 เขต

Advertisement

4.การฟื้นฟูสภาพทางสังคม มีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้บริการใน 50 เขต เพื่อให้ผู้ใช้ยาเสพติดได้รับการติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ได้รับบริการด้านสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยไม่กลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก

“สำหรับการเตรียมการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม กทม. และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเขต มีดังนี้ 1.จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม กทม. ณ สำนักพัฒนาสังคม ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.ดินแดง 2 เขตดินแดง และจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเขต ณ สำนักงานเขต 50 เขต 2.ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม มีการรับการส่งต่อผู้ใช้ยาเสพติดจากศูนย์คัดกรองฯ สถานพยาบาลสถานฟื้นฟูฯ มีบันทึกข้อมูลแรกรับในระบบ ตรวจสอบข้อมูล โดยการสัมภาษณ์สอบถามความต้องการ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางความช่วยเหลือ แบ่งเป็น 1)กรณีช่วยเหลือได้ตามระเบียบกรุงเทพมหานคร เช่น ทุนประกอบอาชีพ 5,000 บาท จะดำเนินการช่วยเหลือ โดยมีการแจ้งผลการให้ความช่วยเหลือ การติดตาม ดูแลช่วยเหลือ การเยี่ยมบ้าน และนัดหมายติดตามผลหลังการฟื้นฟูทางสังคม การติดตามในพื้นที่ 2)กรณีไม่สามารถให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกรุงเทพมหานคร จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการจัดหางาน สังกัดกระทรวงแรงงาน เป็นต้น และ 3.ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเขต มีการรายงานข้อมูลมายังศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม กทม. เพื่อรวบรวมบันทึกในระบบฐานข้อมูลของ กทม. ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลหลังการช่วยเหลือ” นายขจิตกล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย 1567 เป็นสายด่วนหลักในการบูรณาการศูนย์บริการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด หรือ “สายด่วนเลิกยาเสพติด” ร่วมกับภาคีเครือข่ายสายด่วนทั่วประเทศ 12 หน่วยงาน (ภาครัฐ 10 หน่วยงาน และภาคเอกชน 2 หน่วยงาน) ตลอด 24 ชั่วโมง และมุ่งพัฒนาสู่ระบบการโอนสายส่งต่อ (ระบบ Call Forward) โดยใช้ฐานข้อมูลผู้เสพฐานเดียวในการบูรณาการความช่วยเหลือ ในส่วนของผลการดำเนินงานของระบบแจ้งเรื่องเข้ารับการบำบัดยาเสพติด สายด่วน 1567 ของพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 6 พฤษภาคม-วันที่ 4 มิถุนายน 2565 มีเรื่องรับแจ้งทั้งหมด 35 เรื่อง ดำเนินการแล้ว 34 เรื่อง รับเรื่องมาจาก 191 จำนวน 34 ราย และสายด่วน 1567 จำนวน 1 ราย ในส่วนของสายด่วน กทม. 1555 ยังไม่พบว่ามีผู้แจ้งเรื่อง

โดยการประชุมวันนี้ ถือเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกในการแก้ไขปัญหายาเสพติดครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยนำผู้ติดยาเสพติดซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยให้กลับคืนสู่ครอบครัว และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ต่อไป โดยไม่กลับไปกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image