อนุทิน ลั่น! สธ.พร้อมหนุนผู้ว่าฯ ชัชชาติ ดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ ลบปมปัญหาในอดีต

อนุทิน ลั่น! สธ.พร้อมหนุนผู้ว่าฯ ชัชชาติ ดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ ลบปมปัญหาในอดีต

วันนี้ (9 มิถุนายน 2565) ที่โรงแรงบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความร่วมมือการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อระดับชาติ และโรคอุบัติใหม่ (Big Rock 1) ภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม ร่วมกับ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) น.ส.บุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

นายอนุทินกล่าวว่า จากข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ ของคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข หน่วยงานในสังกัด สธ.ที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณาและร่วมดำเนินการกับ กทม.และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งจากนโยบาย “สุขภาพดี” ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. มั่นใจว่าต่อไประบบสุขภาพของประเทศไทยจะมีความสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน ผลลัพธ์ภาพรวมภาวะสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยจะดีขึ้น โดย สธ.มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์จากเขตสุขภาพต่างๆ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนเมืองร่วมกับ กทม.

นายอนุทินกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดโรคโควิด-19 จนได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศ เพราะมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง ซึ่งวันนี้ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของ กทม.เป็นประเด็นสุขภาพสำคัญเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Health for Wealth)

Advertisement

นายอนุทินกล่าวอีกว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบปฐมภูมิในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิในเรื่องต่างๆ มีข้อเสนอ คือ

1.การรักษาทุกที่ทุกเวลาแบบไร้รอยต่อ เป็นนโยบายที่มอบไว้ให้ทุกเขตสุขภาพเร่งดำเนินการ และเมื่อจะดำเนินการใน กทม.ด้วยจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก หวังว่าคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานหรือพักอาศัยในเมืองหลวงจะได้รับทั้งสิทธิการรักษา และข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาล (รพ.) ต่างจังหวัด ส่งมาให้ถึง รพ.ในกรุงเทพฯโดยเร็ว

2.การขยายหน่วยบริการ เนื่องจาก รพ.ในสังกัด สธ.ในพื้นที่กรุงเทพฯเป็น รพ.เฉพาะทาง จึงใช้นโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการที่เน้นนวัตกรรม พัฒนาระบบ Telemedicine และ Home ward โดยมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกำหนดแนวทางการจ่ายค่าชดเชยการบริการใหม่อย่างเหมาะสม เพื่อรองรับการบริการในสังคมสูงอายุที่จะมีผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงเพิ่มขึ้น

Advertisement

และ 3.การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ของกรุงเทพฯถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลของ อสม.ได้มีโควต้าของ อสส.ด้วย โดยขอให้ กทม.บูรณาการระบบอาสาสมัครสาธารณสุขของประเทศร่วมกัน อาจจะเริ่มจากการใช้แอพพลิเคชั่น Smart อสม. เพื่อให้ อสส.ได้รับความรู้ข่าวสารไปพร้อมๆ กับ อสม.

นายอนุทินกลาวว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มในระบบประกันสังคม อย่างน้อย 360 แห่ง ทั้ง รพ. คลินิกประกันสังคม คลินิกชุมชนอบอุ่น และคลินิกเวชกรรม เพิ่มรูปแบบเครือข่ายหน่วยบริการสาขา เช่น ร้านยา คลินิกเฉพาะทาง, การกระจายงบประมาณจาก รพ.ไปยังหน่วยปฐมภูมิเพิ่มขึ้นของกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ, การเพิ่มการเข้าถึงบริการทุติยภูมิ มีการอภิบาลระบบ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพิ่มอาสาสมัครแบบเปิด และรูปแบบการจัดการแบบอาคารสูง หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม เป็นต้น

“ในอดีตเรามีปัญหานิดหน่อยกับผู้ว่าฯกทม.คนเก่า มีการแสดงอาณาเขตในการดูแลสุขภาพประชาชน แต่เวลาโดนตำหนิ โดนวิพากษ์วิจารณ์ สธ.โดนก่อน ประชาชนไม่ได้แยกว่าเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ เรื่องระบบสาธารณสุขไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ สธ. นี่คือเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งก็เป็นจริง แต่เรื่องสุขภาพชีวิตประชาชนแล้ว สธ.คงไม่สามารถออกมายืนแล้วบอกว่าไม่เกี่ยว ไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นเรื่องของกรุงเทพฯ สธ.ยุ่งไม่ได้ แต่ สธ.ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพประชาชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากในการบริหารกรุงเทพฯ จึงขอถือโอกาสยืนยันกับรองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเป็นตัวแทนของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ว่า สธ.พร้อมให้การสนับสนุนให้ความร่วมมือ ร่วมงาน ร่วมแรง ร่วมใจกัน เพราะคนที่ได้รับประโยชน์คือประชาชนทุกคน” นายอนุทินกล่าว

ด้านนายสันติกล่าวว่า กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่ดูแลข้าราชการในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ข้าราชการได้เข้าถึงงานบริการปฐมภูมิและการเชื่อมต่องานบริการอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนนโยบาย และจะกระจายงบประมาณเพื่อให้เกิดการบริการในหน่วยปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น

ทางด้าน น.ส.ทวิดากล่าวว่า ตามนโยบายสุขภาพของผู้ว่าฯกทม. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของหน่วยบริการปฐมภูมิ และกำหนดนโนบาย 9 ข้อ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงระบบบริการในกรุงเทพฯให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการที่ดีขึ้น โดยนโยบายของคณะปฏิรูปนั้นสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนของ กทม. ซึ่ง กทม.จะรับแผนดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯมีสุขภาพที่ดีต่อไปอย่างยั่งยืน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image