ช็อก! เยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้น 2 เท่า นักวิจัยชี้ก่อมะเร็งมากกว่าบุหรี่ จี้คืนสถานะช่วงสุญญากาศ

ช็อก! เยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้น 2 เท่า นักวิจัยชี้ก่อมะเร็งมากกว่าบุหรี่ จี้คืนสถานะช่วงสุญญากาศ

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่โรงแรมแชงกรีลา ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโปรแกรมฝึกอบรมพัฒนานักวิจัยด้านสารเสพติดมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดเสวนาวิชาการด้านยาเสพติด กรณีผลกระทบจากการใช้กัญชา

ทั้งนี้ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการ ศศก. กล่าวระหว่างเปิดงานช่วงหนึ่งว่า หลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมา ที่มีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด มีข้อห่วงใยจากหลายภาคส่วน พบรายงานการเกิดโรคจิต เกิดอาการเป็นพิษจากการใช้กัญชาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ตัวเลขจาก ศศก. พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราว 2 เท่า การวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมด ยกเว้น สุราและบุหรี่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 29.56

ศ.นพ.สิริชัย ชยสิริโสภณ นักประสาทวิทยา และนักวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ กล่าวว่า ไม่ว่าจะสูบกัญชาหรือบุหรี่ สิ่งที่เหมือนกันคือ การเผาไหม้และมีควัน เมื่อเข้าสู่ปอดจะมีน้ำมันดิน ที่เรียกว่า “ทาร์” กัญชาอัดเข้าปอดทางลึกและนานกว่าบุหรี่ จึงพบจำนวนน้ำมันดินเข้าปอดมากกว่าสูบบุหรี่ 4 เท่า การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากการสูบกัญชาจะก่อสารมะเร็งมากกว่าบุหรี่ คนสูบกัญชาเป็นครั้งเป็นคราวจะมีอาการที่เกิดขึ้นโดยตรงจากสาร THC

Advertisement

“อาการระยะแรกจะกระตุ้นประสาท ร่าเริง หัวเราะ หัวใจเต้นเร็ว มึนเมาอ่อน จากนั้นกดประสาท ง่วงนอน ซึมลง เห็นภาพลวงตา ภาพหลอน หากสาร THC มาก อาการก็มากขึ้นจนหูแว่ว ตกใจง่าย วิตกกังวล หวาดระแวง ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้ หากสูบเป็นประจำเป็นปีๆ จะส่งผลกระทบต่อสมองมากขึ้น ทั้งไอคิวต่ำลง ความจำเสื่อม การเรียนรู้เชื่องช้า ตัดสินใจผิดพลาด เฉื่อยชา เกิดอาการทางจิต เช่น หวาดกลัว จิตหลอน ซึมเศร้า” ศ.นพ.สิริชัย กล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.สิริชัย กล่าวว่า สำหรับการใช้น้ำมันกัญชา ซึ่งมีสาร THC มากกว่าร้อยละ 0.3 ที่หยอด กิน และดื่มเป็นประจำ จะมีผลกระทบต่อแบบเดียวกับการสูบเป็นประจำหรือไม่ยังไม่มีการวิจัยแน่นอน แต่เปรียบเทียบน่าจะคล้ายคลึงที่จะมีผลกระทบต่อสมองเช่นกัน จึงอยากเตือนและแนะนำใช้น้ำมันสาร CBD จะปลอดภัยกว่า นอกจากนี้ มีการวิจัยตรวจปริมาณสาร THC ในเลือดของคนที่อยู่ร่วมกับกลุ่มคนสูบกัญชาเป็นเวลา 3 ชั่วโมง (ชม.) พบว่ามีปริมาณสาร THC ในเลือดสูงเช่นกัน และมีบางคนอยู่ร่วมกับกลุ่มคนสูบกัญชาที่มีปริมาณสาร THC ร้อยละ 11.3 เป็นเวลา 1 ชม.ตรวจพบมีสาร THC ในปัสสาวะ

Advertisement

ขณะที่ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกัญชากับสาเหตุการเสียชีวิต ว่า สาร THC ในกัญชาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตหลักๆ 3 กรณี คือ 1.สาเหตุโดยตรงจากการกินกัญชาเกินขนาด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่เผลอกิน ส่งผลกระตุ้นหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะเสี่ยงเสียชีวิตกะทันหันได้ 2.กระตุ้นให้เกิดอาการบางอย่างจนเสียชีวิตเนื่องจากไปกระตุ้นหัวใจและหลอดเลือด แม้สูบ 1 ครั้ง ก็เกิดอาการได้ และมีโอกาสเป็นโรคหัวใจถึง 5 เท่า เทียบกับคนไม่สูบ 3.ผลข้างเคียง ทำให้เกิดโรคจิตเวช หูแว่วประสาทหลอน บางคนคิดว่าตัวเองเป็นนก เลยกระโดดตึก หรือมึนเมาเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตได้ และเสี่ยงการเป็นภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายมากขึ้น

“ดังนั้น ต้องควบคุมให้เข้มข้นกว่านี้ ต้องไม่น้อยกว่าประเทศที่บอกว่ามีการใช้เสรีนันทนาการที่มีการควบคุมเข้มข้น เช่น กำหนดปริมาณการปลูกในครัวเรือน ทำมิดชิด กำหนดปริมาณครอบครองในที่สาธารณะ ห้ามสูบในที่สาธารณะ แต่ของไทยตอนนี้ไม่คุมอะไรเลย เพราะปลดออกจากยาเสพติดก่อนที่กฎหมายควบคุมจะออกมา ผมจึงสนับสนุนแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการ ในช่วงสุญญากาศให้คืนสถานะกัญชาเป็นยาเสพติด และทำกฎหมายให้เข้มข้น” ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image