65ปี สถาบันประสาทฯ เปิดเทคโนโลยีลากลิ่มเลือดช่วยผู้ป่วยสโตรก ดันเข้าชุดสิทธิรักษาฟรีแล้ว!

65ปี สถาบันประสาทฯ เปิดเทคโนโลยีลากลิ่มเลือดช่วยผู้ป่วยสโตรก ดันเข้าชุดสิทธิรักษาฟรีแล้ว!

วันนี้ (2 สิงหาคม 2565) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องใน “วันสถาปนาครบรอบ 65 ปี มุ่งสู่สถาบันชั้นนำด้านวิชาการและระบบโรคประสาทในระดับสากล” ที่สถาบันประสาทวิทยา ว่า สถาบันประสาทวิทยา เดิมเป็นที่รู้จักในนามของ โรงพยาบาล (รพ.) ประสาทพญาไท ก่อตั้งโดย ศ.นพ.ประสพ รัตนากร เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2500 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทุนทรัพย์สำหรับก่อสร้างตึกจักษุประสาทวิทยา ปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยาเป็นสถาบันโรคเฉพาะทางระดับตติยภูมิ มีความมุ่งมั่นและความพร้อมพัฒนาสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อบริการประชาชน พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สถาบันประสาทฯ เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านโรคเลือดสมอง 2.ด้านโรคเนื้องอกระบบประสาท 3.ด้านโรคระบบประสาทไขมันหลัง 4.ด้านโรคระบบภูมิคุ้มกัน และ 5.ด้านโรคระบบประสาทลมชัก ผลงานที่ประสบความสำเร็จของสถาบันประสาทฯ อาทิ 1.การลากลิ่มเลือดของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบครั้งแรกในประเทศไทย เป้าหมายการรักษาเพื่อให้มีการเกิดเส้นเลือดฝอยมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรายดังกล่าวสามารถขยับร่างกายได้เกือบเป็นปกติ 2.รถโมบายสโตรกยูนิต (Stroke Unit) ร่วมกับ รพ.ศิริราช และ รพ.นพรัตนราชธานี ที่สามารถวินิจฉัยและช่วยเหลือเบื้องต้นในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เอ็กซเรย์ซีทีสแกน หาพยาธิสภาพในสมองและให้ยาละลายลิ่มเลือกได้ทันที 3.หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด โดยได้ริเริ่มเป็นศูนย์รักษาโรคลมชักแห่งแรกของไทยด้วยวิธีการผ่าตัด 4.มีแพทย์เชี่ยวชาญดูแลด้านระบบประสาทภูมิคุ้มกันที่ครบวงจรในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากผู้ใหญ่ใจดี ทำให้โครงการสำเร็จได้โดยเร็ว ช่วยชีวิตได้หลายชีวิต

นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงการลากลิ่มเลือดในผู้ป่วยสโตรก ว่า มีการเสนอเข้าไปในชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มในปีนี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา จากเดิมที่มีค่าใช้จ่ายราว 1-2 แสนบาทต่อราย จากนี้ สถาบันประสาทฯ จะอบรมแพทย์เฉพาะทางตาม รพ.ขนาดใหญ่ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ขณะที่ การรักษาโรคลมชักด้วยการผ่าตัด ด้วยการใช้กัญชาทางการแพทย์ สถาบันประสาทฯ ร่วมกับ รพ.เด็ก ดูแลผู้ป่วยเด็กที่ใช้ในเด็กที่รักษายาอื่นไม่ได้ผล ก็จะใช้สาร CBD กัญชา มารักษาร่วม และการรักษาโรคพาร์กินสันในผู้ใหญ่

Advertisement

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงระยะหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 (post pandemic) การแพทย์จะเปลี่ยนไป กรมการแพทย์วางเป้าหมาย วางวิสัยทัศน์ให้เป็น Newnormal Healthcare เปลี่ยนระบบดูแลผู้ป่วยจาก รพ. (hospital base care) เป็นการดูแลผู้ป่วยจากความเหมาะสมของผู้ป่วยเอง (Personnel based care) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนไม่ต้องไปรับบริการที่ รพ.เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน สามารถเจาะเลือดนอก รพ.ได้ ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด ให้สามารถเจาะเลือดที่ปั๊มน้ำมันได้

“ซึ่งข้อมูลจะส่งมาที่ระบบของ รพ.หากผลเลือดไม่เป็นอะไรมาก แพทย์จะนัดปรึกษาผ่านเทเลเมดิซีน (telemedicine) อย่างในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 รพ.ราชวิถี ก็จะเริ่มเป้าหมายลดผู้ป่วยนอก (OPD) ให้ได้ร้อยละ 20 ด้วยการทำเทเลเมดิซีน ซึ่งหากจัดระบบให้ดี จะช่วยลดความแออัดใน รพ. และลดเวลารอคอยของผู้ป่วย เปลี่ยนการดูแลจาก รพ. ให้เป็นทุกที่ ทุกเวลา ให้ผู้ป่วยได้ปรึกษาแพทย์ได้ทุกเวลา ต่อไปสถาบันประสาทฯ จะเป็นสถาบันการแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ระดับสูงของประเทศและนานาชาติ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถาบันประสาทฯ มี นวัตกรรมการแพทย์เพื่อผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง พัฒนา NIT Smart OPD และแอพพลิเคชั่น NIT Plus ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย เพื่อเพิ่มการเข้าถึง การรับบริการของผู้ป่วยมากขึ้น โดยประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษา จองคิว และชำระค่าบริการได้โดยผ่านแอพพ์ฯ เดียว เพื่อทำให้การไป รพ.เป็นเรื่องง่ายขึ้น รวดเร็ว ประหยัดเวลา สถาบันประสาทฯ ภูมิใจที่พัฒนาระบบให้บริการทาง พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทำให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพดีได้รับความสะดวกสบาย ผู้ให้บริการมีความสุขและเพื่อระบบสุขภาพของคนไทยที่ยั่งยืนต่อไป

นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า ในการเทคโนโลยีในการลากลิ่มเลือด ใช้ในรักษาผู้ป่วยโรคสโตรกที่มีอาการสำคัญคือ หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง การพูดติดขัด และต้องให้มาถึงแพทย์ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะให้ยาละลายลิ่มเลือดใน 4 ชั่วโมงแรก แต่ถ้าไม่ได้ผลเนื่องจากผู้ป่วยอายุมาก ขนาดเส้นเลือด หรืออาจจะมาช้าเกิน 4 ชั่วโมง ก็จะใช้วิธีฉีดสีเพื่อลากลิ่มเลือด ที่จะช่วยลดอัตราเสียชีวิตและลดอัตราพิการ ทั้งนี้ จากการรักษาผู้ป่วยกว่า 120 รายต่อปี ก็พบว่าการรักษาให้ผลดี ผู้ป่วยบางรายกลับมาเดินได้ในทันที และมีแผลน้อย อย่างไรก็ตาม สถาบันประสาทฯ สามารถรับผู้ป่วยจากการส่งต่อมาจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้อย่างไม่มีจำกัด

“การลากลิ่มเลือดจะคล้ายสวนหัวใจ คือการใส่สายเล็กๆ ที่ข้อพับมือ ข้อพับขา ซึ่งสายจะค่อยๆ ขึ้นไปที่สมอง ผ่านการเอกซเรย์ จากนั้นก็จะลากกลับลงมา จะใช้เวลารักษาราว 1-2 ชั่วโมง ซึ่งข้อดีของการลากลิ่มเลือดคือสามารถทำได้แม้เวลาผ่านไปแล้วราว 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยหลังจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้” นพ.ธนินทร์กล่าวและว่า สถาบันประสาทฯ ได้ตั้งเป้าลดความหนาแน่นของผู้ป่วยนอกได้ราวร้อยละ 10-15 แต่ช่วงโควิด-19 ลดได้ถึงร้อยละ 20 ด้วยการใช้เทเลเมดิซีนให้แพทย์คุยกับผู้ป่วยที่อาการคงที่ อาการไม่เปลี่ยนแปลง โดยผู้ป่วยของสถาบันประสาทฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด การทำเทเลเมดิซีนช่วยลดผู้ป่วยได้ปีละ 10,000 ราย ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยที่ต้องเดินทางมาได้อย่างมหาศาล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image