กทม.ขอความเห็น ‘ค่าเช่าที่’ จ่อดึงเทคโนโลยี ดัน ‘จตุจักร’ ตลาดนัดระดับโลก

กทม.ขอความเห็น ปม ‘ค่าเช่าที่’ จ่อดึงเทคโนโลยี ดัน ‘จตุจักร’ ตลาดนัดระดับนานาชาติ

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 16 สิงหาคม ที่ห้องประชุม ชั้น 3 ที่ทำการตลาดนัดจตุจักร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2565 โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร, นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ประธานกรรมการคณะกรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายศานนท์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ตลาดนัดจตุจักรมีวิสัยทัศน์ (Vision) “ตลาด กทม. คุณภาพระดับสากล เพื่อประชาชนทุกระดับ (BMA Market ; International Quality For ALL)” ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าเรามีวิสัยทัศน์ที่จะไม่เป็นแค่ตลาดภายในประเทศ แต่เป็นตลาดในระดับนานาชาติ เพราะเราพูดถึง International ด้วย จึงมีความตั้งใจให้ตลาดของเราเป็นผู้นำด้านดิจิทัล อาจจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ทันกับโลกสมัยใหม่

“ทำอย่างไรให้เป็นตัวอย่างและเป็นที่เปรียบเทียบของตลาดอื่นๆ ซึ่งที่เราต้องทำคือต้องเทียบกับระดับ International ว่าปัจจุบันตลาดไปถึงไหน มีการพูดกันถึงการใช้ digital information การใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมดูแลการเก็บค่าแผง international หรือไม่ เรื่องการบำบัดน้ำเสีย international หรือไม่ สิ่งนี้เป็นโจทย์ที่เราต้องดำเนินการเนื่องจากเราได้ประกาศวิสัยทัศน์ไปค่อนข้างชัดเจนว่าเป็น International Quality และมีอีกคำ For ALL หมายถึงสำหรับทุกคน ซึ่งก็เป็นวิสัยทัศน์ของกรุงเทพมหานครด้วย คือทำให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งถ้าเป็นตลาดสำหรับทุกคน มีด้านอื่นที่สามารถบูรณาการได้ เช่น สำนักพัฒนาสังคม ด้านคนพิการ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการได้รับโอกาส ด้านอาชีพ โอกาสได้ทำมาค้าขายอาจรวมถึงกลุ่มเปราะบางด้วย” นายศานนท์ระบุ

Advertisement

สำหรับการบริหารตลาดแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ตลาดนัดจตุจักร 2.ตลาดมีนบุรี ตลาดสนามหลวงสอง และตลาดชุมชนอีก 9 แห่ง ในภาพรวมจะแบ่งงานให้ชัดเจน ทั้ง 3 ส่วนเนื่องจากมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ละส่วนมีการจัดระดับความสำคัญที่แตกต่างกัน คงไม่จัดระดับความสำคัญระดับเดียวกันทั้ง 12 ตลาด แต่ละตลาดมีรูปแบบที่ชัดเจนและมีวิสัยทัศน์เฉพาะ อาจมีแผนการดำเนินการที่แตกต่างกัน อย่างเช่น บางตลาดสัญญาเช่าอาจจะน้อยลง เราต้องทำให้เป็นสัญญาชั่วคราวมากขึ้น หรือมีวิสัยทัศน์ที่ลงทุนน้อย แต่ได้มาก โดยตลาดชุมชนอาจมีการบูรณาการร่วมกับสำนักพัฒนาสังคม มีผลิตภัณฑ์ชุมชน ในการส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับชุมชน นอกจากนี้ สำนักงานตลาดสามารถเป็นกำลังในการช่วยเรื่องเศรษฐกิจภาพรวมของ กทม. อาทิ การจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ที่ให้ผู้ค้าแผงลอยเช่าสถานที่ของการทางพิเศษฯ อย่างเช่นพื้นที่ใต้ทางด่วน มองว่าสำนักการตลาดสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สำนักงานเขตในจุดที่มีหาบเร่-แผงลอย

ทั้งนี้ ในที่ประชุม สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครรายงานผลประกอบการจัดเก็บรายได้ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณและฐานะทางการเงิน ประจำเดือนกรกฎาคม 2565 การลงพื้นที่ตรวจตลาดของคณะกรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร การจัดทำสัญญาเช่าที่ดินย่านพหลโยธิน บริเวณตลาดนัดจตุจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย การจัดการตลาดบางแคภิรมย์ รวมทั้งหารือมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าสัญญาอื่นที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ภายในตลาดนัดจตุจักร และแนวทางการช่วยเหลือและการดำเนินการกับผู้เช่าแผงค้าตลาดบางแคภิรมย์

Advertisement

พร้อมทั้ง เสนอขอรับความเห็นชอบงดเว้นค่าเช่าตามสัญญาเช่าอื่นตลาดบางแคภิรมย์, ขอรับความเห็นชอบปรับลดค่าเช่าพื้นที่ตามสัญญาเช่าอื่น ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก, ขอรับความเห็นชอบยกเว้นค่าปรับกรณีชำระค่าเช่าล่าช้าตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก และให้ผู้เช่าแผงค้าตลาดเทวราชผ่อนชำระปรับล่าช้า, ขอรับความเห็นชอบขยายระยะเวลาในการชำระเงินค่าเช่าแผงค้าและค่าเช่า ตามสัญญาอื่น ตลาดชุมชน, ขอรับความเห็นชอบเช่าตลาดเทวราชและที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การให้สิทธิเอกชนลงทุนปรับปรุงพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ตลาดรัชดาภิเษก, ขอความเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าอื่นภายในตลาดนัดมีนบุรี (เพิ่มเติม) และการขออนุมัติการเช่าแผงค้าว่างประเภทศูนย์อาหาร โครงการขยายตลาดนัดมีนบุรี โดยยกเว้นการประกวดราคา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image