ศบค.เคาะปรับสัญญาไฟเซอร์หาวัคซีนเด็ก ปลื้ม นทท.พุ่งหลังเลิกไทยแลนด์พาส ขยายเวลาพำนักให้

มติ ศบค.เล็งปรับสัญญาไฟเซอร์หาวัคซีน เด็ก 6 เดือน-4 ปี เพิ่มฝาส้ม 5-11 ปี ปลื้มยกเลิกไทยแลนด์พาส ยอด นทท.พุ่ง ขยายเวลาอยู่ไทยไม่เกิน 45 วัน

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธานว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) รายงานความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งนายกฯให้ความสำคัญ ขณะนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA, การพัฒนาวัคซีนโควิด HXP-GPOVac องค์การเภสัชกรรมที่ความคืบหน้าอย่างมาก คาดว่าวัคซีนของจุฬาฯจะสามารถขึ้นทะเบียนได้ภายในปี 2567 ส่วนวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนได้ภายในปี 2566

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ภาพรวม ยอดฉีดวัคซีน วันที่ 18 สิงหาคม 2565 ยอดฉีดทั่วประเทศ 35,764 โดส เข็มที่ 1 3,765 ราย เข็มที่ 2 7,633 ราย และเข็มที่ 3 24,366 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 57,208,538 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม 53,627,546 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม 31,488,324 ราย นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบแผนการบริการวัคซีนโควิดเดือนกันยายน ซึ่งอธิบดีควบคุมโรค นำเสนอผลการให้บริการวัคซีนโควิด-19 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564-18 สิงหาคม 2565 ผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ฉีดเข็มที่ 1 ร้อยละ 84.6 เข็มที่ 2 ร้อยละ 80.6 เข็มที่ 3 ร้อยละ 50 นักเรียนอายุ 12-17 ปี ฉีดเข็มที่ 1 ร้อยละ 81.1 เข็มที่ 2 ร้อยละ 80.4 เข็มที่ 3 ร้อยละ 22.4 นักเรียนที่มีอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มที่ 1 ร้อยละ 63.7 เข็มที่ 2 ร้อยละ 45.8 ซึ่งที่ประชุมหารือว่าจะทำอย่างไรถึงจะเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุได้ ส่วนจำนวนนักเรียนอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 น้อยนั้น อธิบดีควบคุมโรคชี้แจงว่า เหตุเพราะช่วงเปิดเทอมเด็กติดโควิด-19 จำนวนมาก ทำให้ยังไม่สามรถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้

“ส่วนที่ใครหลายคนกังวล ไม่อยากฉีดวัคซีนเพราะกลัวผลข้างเคียง ที่ประชุมการนำเสนอเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกันโควิด โดยปัจจุบันพบว่ามีประชาชนได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 142,201,901 โดส อาการข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ ไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นใส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว ทั้งนี้ จะพบการเสียชีวิต 6 ราย ซึ่งเป็นอัตราที่คงที่มานานแล้ว

“และเมื่อมาดูข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 (ปอดอักเสบรุนแรง) กลุ่ม 608 จำนวน 9,373 ราย ตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม 2565 แบ่งเป็น ไม่ได้รับวัคซีน 5,260 ราย คิดเป็น 56.12% ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 3,327 ราย คิดเป็น 35.5% ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 768 ราย คิดเป็น 8.38% จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ข้อมูลนี้มาเป็นประโยชน์ วางแผนฉีดวัคซีนให้คนไทยต่อไป” นพ.ทวีศิปล์กล่าว

Advertisement
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นพ.ทวีศิปล์กล่าวต่อว่า ส่วนแผนการบริจาควัคซีนโควิด-19 ในเดือนสิงหาคม 2565 สรุปการรับบริจาควัคซีนจากต่างประเทศในปี 2564-2565 (รวม 13.72 ล้านโดส) วัคซีนซิโนแวค ได้รับบริจาคจากประเทศจีน จำนวน 3 ล้านโดส วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับบริจากจากประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ และเยอรมนี จำนวน 3.30 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริการ ไอซ์แลนด์ และฝรั่งเศส จำนวน 4.86 ล้านโดส วันซีนโมเดอร์นา ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา ฮังการี และเดนมาร์ก จำนวน 2.36 ล้านโดส และ วัคซีน Covovax ได้รับบริจาคจากประเทศอินเดีย จำนวน 0.20 ล้านโดส สรุปการบริจาควัคซีนให้กับต่างประเทศในปี 2564-2565 ได้บริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า บริจาคให้กับประเทศเมียนมาและเวียดนาม จำนวน 1.20 ล้านโดส และวัคซีนไฟเซอร์ อยู่ระหว่างการดำเนินการบริจาคให้ประเทศเมียนมา จำนวน 1.5 ล้านโดส

โฆษก ศบค.กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้ปรับสัญญาวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี โดยจะขอปรับสัญญาวัคซีนส่วนที่เหลือที่ยังไม่ได้ส่งมอบตามสัญญา จากวัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 12 ปีขึ้นไป (ฝาเทา/ฝาม่วง) จำนวน 3.5 ล้านโดส ไปเป็นวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี (ฝาส้ม) เพื่อเป็นเข็มกระตุ้น จำนวน 5.9 แสนโดส และวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี (ฝาสีแดงเข้ม) จำนวน 2.9 ล้านโดส โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ต้องได้รับอนุมัติจาก อย.ไทย สำหรับวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี เพื่อให้สามารถส่งมองวัคซีนตามสัญญาที่ปรับใหม่ กรณีที่ อย.ไม่สามารถอนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม วัคซีนที่เหลือที่ยังไม่ได้ส่งมอบตามสัญญาจะถูกปรับเป็นวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี จำนวน 3.5 ล้านโดส ส่วนความก้าวหน้าการยื่นขออนุญาตวัคซีนซิโนแวค สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาไปที่ อย. คาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ในการพิจารณา และขณะนี้มีวัคซีนซิโนแวคคงคลัง 3.36 ล้านโดส

Advertisement

“สธ.เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 2 สิงหาคม มีดังนี้ กรณีที่ยังไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน แนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเป้าหมายอายุ 5-11 ปี ดังนี้ หากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แนะนำให้รับวัคซีนเข็มตระตุ้น 1 เข็ม หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยสามารถรับวัคซีนได้ทุกชนิดและขนาดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยตามช่วงอายุ กรณีที่มีประวัติเคยติดเชื้อโควิด แนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเป้าหมายอายุ 5-11 ปี ดังนี้ หากไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีน 1 เข็ม แนะนำให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 1 เข็ม หลังจากติดเชื้อตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยสามารถรับวัคซีนได้ทุกชนิตและขนาดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยตามช่วงอายุ และหากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ยังไม่แนะนำให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นในระยะนี้ เนื่องจากได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อแล้ว” โฆษก ศบค.กล่าว

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ส่วนแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด เข็มกระตุ้น หากผ่านระบบศึกษา ให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำรวจความต้องการ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในนักเรียนอายุ 5-11 ปี และประสานงานการบริการฉีดวัคซีนกับสำนักสาธารณสุขจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ดำเนินการฉีดเข็มกระตุ้น สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เป็นต้นไป และหากผ่านสถานพยาบาล ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ หรือตามบริบทของแต่ละพื้นที่

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

“ผู้อำนวยการ ศบค.รับทราบโพลของ สธ.ถึงสาเหตุที่ประชาชนปฏิเสธการฉีดวัคซีนโควิดเข้มกระตุ้น และแนวทางที่ต้องการให้ สธ.แก้ปัญหา พบว่า ประชาชน 34.8% ระบุว่าฉีดพอแล้ว 20.5% รอฉีด 19.2% กลัวอันตราย และ 16.7% เพิ่งหายป่วยจากโควิด ส่วนจะฉีดหรือไม่ ประชาชน 31.2% ระบุว่า ฉีด 33.9% ไม่แน่ใจ และ 34.9% ไม่ฉีด ให้ช่วยอย่างไร 57.6% ระบุว่าฉีดให้ที่บ้าน/ใกล้บ้านที่สุด 41.1% เยียวยาถ้ามีผลข้างเคียง ซึ่งจะต้องมาช่วยกันดู เพื่อที่จะให้ฉีดได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ สธ.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

โฆษก ศบค.กล่าวต่อว่า ศปก.กก.รายงานว่าประเทศไทยได้รับคำชื่นชมในการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความมั่นใจในการเดินทางมาไทย จะเห็นว่าในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียวที่ยกเลิก Thailand Pass (ไทยแลนด์พาส) มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศถึง 1,070,353 คน ต่างจากเดือนมิถุนายนที่ยกเลิกการกักตัวและปรับการตรวจ ATK ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 767,497 คน โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวสะสม ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 รวมแล้ว 1.57 แสนล้านบาท ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 สิงหาคม จำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 3,780,209 คน รายได้จากนักท่องเที่ยวสะสม วันที่ 1 มกราคม-17 สิงหาคม จำนวน 176,311 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก คือ มาเลเซีย 535,290 คน อินเดีย 391,615 คน สิงคโปร์ 214,497 คน สหราชอาณาจักร 185,538 คน และ เวียดนาม 170,765 คน

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย วันที่ 1 มกราคม-17 สิงหาคม จำนวนนักท่องเที่ยวไทนเที่ยวไทยสะสม 86 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 สิงหาคม 377,740 ล้านบาท จังหวัดที่ชาวไทยไปเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ เพชรบุรี รวมรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ 554,051 ล้านบาท

“ที่ประชุมหารือร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวนานขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว คือต้องเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และเพิ่มระยะเวลาพำนักให้ได้ ฉะนั้น การใช้วีซ่ามีความสำคัญ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้ ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราในการเข้าประเทศ (ผ.30) ทั้งที่ไทยให้แต่ฝ่ายเดียว และที่มีความตกลงระหว่างกัน จากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ที่ได้รับ Visa on Arrival จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน

“การขยายเวลาพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรให้มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565-31 มีนาคม 2566 โดยมอบหมายให้ มท. กต. สตม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมติ ศบค.ต่อไป นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องการขนส่งพลัสดุและอาหารตามบ้าน ขอให้ดูแลสุขลักษณะด้วย และขอให้แยกขยะติดเชื้อในบ้านและทุกที่ด้วย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image