‘นายกเล็กนครยะลา’ ชี้ ผู้นำบางคนอยู่นาน มององค์กรเป็นของตน จน ‘ใช้อำนาจผิด’ แนะสร้างวัฒนธรรมปชต. แก้โกง

‘นายกเล็กนครนครยะลา’ ชี้ ผู้นำบางคนอยู่นาน มององค์กรเป็นของตน จนใช้อำนาจผิด แนะแก้โกงต้องสร้างวัฒนธรรม ปชต. – ‘แม่เหียะ’ ชูเทคโนโลยีช่วยโปร่งใส

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่เวทีใหญ่ ชั้น M สถานีกลางบางซื่อ (โซนประตู 4) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรบรรยายงาน วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2565 ในหัวข้อ “ผู้นำ…กับการปราบโกง!”

อ่านข่าว : ‘ชัชชาติ’ ย้อนเล่า เคยให้ผู้บริหาร ‘สารภาพบาป’ กทม.ทุจริตตรงไหนบ้าง ?

‘รมว.คลัง’ เผยดัชนีโปร่งใสไทยแค่ 35 เต็ม 100 นายกเล็กเกาะคาโชว์โมเดล ‘ข่วงผญา’

ในตอนหนึ่ง นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จ.ยะลา กล่าวว่า ประเด็นแรก สิ่งที่สำคัญคือผู้นำต้องมีเจตจำนงการป้องกันคอร์รัปชั่น ทฤษฎีที่ดีที่สุดคือ “ผู้นำต้องเป็นตัวอย่าง”

Advertisement

ประเด็นที่สอง วันนี้ต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้มากที่สุด ประชาชนต้องมีความกล้าแสดงออก ต้องยอมรับว่าหลายเรื่องที่มีการทุจริต เกิดจากประชาชนกลัวอำนาจมืดต่างๆ ถ้าเราพยายามการปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตย ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ทำให้คนกล้าแสดงออกมากขึ้น และมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เป็นสิ่งที่สำคัญ

ประเด็นที่สาม “ตัวระบบ” ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในทุกๆ ระบบ ต้องยอมรับว่า การทุจริต ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงิน แต่รวมทั้งการทุจริตในเชิงนโยบาย ฉะนั้น หากมีส่วนร่วมตั้งแต่สร้างนโยบายแบบตรวจสอบถ่วงดุล นโยบายนั้นจะนำไปสู่ปลายทางที่ทุจริตได้ยาก ในส่วนต่อมา ต้องทำระบบที่เปิดเผยข้อมูล (Open data) มากขึ้น ใช้สื่อโซเชียลเป็นช่องทางตรวจสอบ ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงได้

ประเด็นที่สี่ “กระบวนการปลูกฝังเด็กและเยาวชน” ทำอย่างไรให้เด็กแยกแยะได้ระหว่าง ปัจเจก (Individual) กับสาธารณะ (Public) เพราะหลายสิ่งหลายอย่าง บางครั้งอาจเกิดจากปัจเจก หรือจากสาธารณะกลายมาเป็นปัจเจก แล้วเอาเข้ามาเป็นของตัวเอง บางครั้งหลายคนที่ยิ่งอยู่ในอำนาจนาน ก็จะมองว่า องค์กรนั้นคือของตัวเอง คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิด ฉะนั้น การปลูกฝังเหล่านี้ต้องทำให้เป็นระบบ ที่จะเติมเข้าไปในสังคมตลอดเวลา

Advertisement

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวต่อว่า ผู้นำต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจน ในการทำงานให้ประชาชน และความโปร่งใส เป็นการส่งสัญญาณให้ข้าราชการทุกระดับ โดยมีการเปิดช่องให้มีการแสดงความคิดเห็น เช่น กรณีเทศบาลนครยะลา มีประชากร 70,000 คน แต่มีคนติดตามทางเพจเฟซบุ๊กกว่า 100,000 คน ทางไลน์อีก 35,000 คน ส่วนเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวหาง่ายกว่าเซเว่นอีก ต่อมา สร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของอำนาจให้กับประชาชน

“ผมพูดตลอดในหลายเวทีว่า การเรียกร้องกระจายอำนาจของเทศบาลผม ไม่ได้เรียกร้องให้อำนาจมาใส่ตัวเอง แต่ผมต้องการเอาอำนาจส่งต่อให้ประชาชน” นายพงษ์ศักดิ์ระบุ

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนรู้สึกมีความเป็นเจ้าของ พร้อมกับปลูกฝังให้รักบ้านเกิด มีการนำเด็กนักเรียนในช่วงปิดเทอมมาอยู่กับทางเทศบาล 45 วัน เพราะเมื่อคนรักบ้านเกิด จะมีความห่วงแหนแล้วจะคอยเฝ้าไม่ให้คนอื่นมาทำร้ายบ้านตัวเอง

ส่วนการ Open Data มีการทำ Citizen Dashboard สามารถตรวจสอบ พร้อมสอนให้คนเคารพค่านิยมของเรื่องสมรรถนะ มากกว่าเรื่องของวัตถุ หลายองค์กรที่มีการทุจริต มาจากการพนันก่อน หรือการใช้ของฟุ่มเฟือย พอเกิดรายจ่ายมากกว่ารายได้ ก็เริ่มหาช่องทางทุจริต

“ทุกวันเสาร์จะมีการเล่านิทานให้กลุ่มเด็กฟัง นำนิทานเหล่านี้ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าเมื่อโตขึ้นเขาจะไม่ชอบกับสิ่งที่ผิด” นายพงษ์ศักดิ์แนะ

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า งานศพเป็นเรื่องของปัจเจก แต่การทำสิ่งสาธารณะเป็นเรื่องของส่วนรวม ถ้าสร้างขึ้นมาบ่อยๆ ชาวบ้านจะบอกว่านายกฯ ไม่ต้องมางานศพนะ นายกฯ ไปทำงานดีกว่า แต่ต้องสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ ต้องกล้าที่จะสอนเขา เวลาเลือกตั้งจะเลือกเพราะนายกฯ คนนี้ไปงานศพ งานศพทำให้กินดีอยู่ดีหรือไม่ ? ค่อยๆ อธิบาย จึงจะเปลี่ยนความคิดประชาชนได้

“ภาครัฐต้องมีความชัดเจนในกติกา อย่าให้เป็นกติกาที่เลือกตาม Subjective เอาความรู้สึกของตัวเอง เช่น การยื่นขออนุญาต 10 วัน ถ้าไม่เสร็จ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ คุณไม่มีสิทธิมาอธิบาย คุณต้องอธิบายตั้งแต่วันที่ 2 ที่คุณเห็นปัญหา สิ่งเหล่านี้ต้องมีความชัดเจน” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ด้าน นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การทุจริตในประเทศเห็นในหลายมิติ กฎหมายมีความล้าสมัย ให้ใช้ดุลยพินิจเป็นหลัก ต้องแก้กฎระเบียบลดขั้นตอนต่างๆ ไม่ให้บุคคลไปเรียกรับผลประโยชน์ได้ ส่วนที่สอง ผู้นำไม่ว่าจะระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต้องเป็นผู้นำที่ดี

“สิ่งที่ประเทศไทยยังติดกับจนถึงวันนี้ คือการบังคับใช้กฎหมาย เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม การต่อต้านทุจริตเริ่มจากที่ผู้นำ ทำโครงสร้างกฎหมายที่ชัดเจนไม่ให้เกิดช่องโหว่” นายธนวัฒน์ชี้

นายธนวัฒน์กล่าวต่อว่า เทศบาลเมืองแม่เหียะ ใช้สมาร์ทซิตี้ ในการแก้ปัญหา ใช้โดรนบินถ่ายรูปมุมสูง มีทุกฐานข้อมูล เช่น ถนน รางระบายน้ำ บ้านเลขที่ การจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ได้จัดทำแพลตฟอร์มเพื่อให้ประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านทางออนไลน์ได้ เช่น การขอให้ซ่อมแซมจุดต่างๆ สามารถส่งเรื่องเข้าผู้ปฏิบัติงานได้เลย การขออนุญาตสร้างบ้านไม่เกิน 150 ตารางเมตร สามารถได้รับใบอนุญาตภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งขอใบอนุญาตทางออนไลน์ได้ด้วย พร้อมได้รับการเซ็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งการเปิดร้านอาหาร ทางเจ้าหน้าที่จะเดินเข้าไปหาที่ร้าน กรอกข้อมูลผ่านแท็บเล็ต ชำระค่าธรรมเนียม พร้อมเปิดให้บริการ

“วันนี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเมือง เก็บเต็มอัตรา 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ไหนปลูกมะนาว ปลูกมะม่วงเห็นหมด เมื่อก่อนต้องให้เจ้าหน้าที่เดินเข้าไปสำรวจที่ดิน ผมว่าล้าสมัย เดี๋ยวนี้ใช้โดรน ใครมาเสียภาษี เปิดคอม 2 หน้าเลย ว่าบ้านคุณทำธุรกิจอะไร ที่ดินมีต้นไม้กี่ต้น” นายธนวัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image