‘ชัชชาติ’ ฮึ่ม กทม.ใช้อำนาจทุกเม็ด! จี้จุดอ่อน ‘ก่อสร้าง’ ทรายอุดท่อ จ่อปรับแผน แก้น้ำไม่ได้ใน 1-2 เดือน

‘ชัชชาติ’ ฮึ่ม กทม.จะใช้อำนาจทุกเม็ด จี้จุดอ่อน ‘หยุดก่อสร้างก่อน’ หินทรายอุดท่อ จ่อปรับแผน คาดแก้ไม่ได้ใน 1-2 เดือน – ฝนเตือน โลกเปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

อ่านข่าว : ‘ชัชชาติ’ ยัน เอาอยู่หมดถ้าไม่ตกเพิ่ม ชี้คลองเปรม-ลาดพร้าวลด ลาดกระบังหนัก – กองทัพจัดเรือผลักน้ำ

นายชัชชาติกล่าวว่า พื้นที่ก่อสร้างต่างๆ ยังคงเป็นจุดอ่อน เช่น ถนนเทพรักษ์ ได้สั่งให้สำนักการโยธา ให้มีการเร่งรัดการก่อสร้าง ส่วนถนนแจ้งวัฒนะเป็นของกรมทางหลวง ซึ่งได้ขอความร่วมมือ ให้ผู้รับเหมาช่วยลอกท่อเพราะมีทรายเยอะ ทั้งนี้ กทม.จะมีมาตรการลงตรวจให้ละเอียด กทม.มีอำนาจอะไรก็ใช้อำนาจทุกเม็ด ถ้ามีผลกระทบ ก็ต้องมีการให้หยุดการก่อสร้างก่อน

“มีความรุนแรงไม่แพ้กับถนนที่ไม่เรียบ ถ้ารู้ว่ามีเหตุผลไม่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็ต้องให้หยุดการก่อสร้างก่อน จนกระทั่งปรับปรุงได้ แต่ช่วงนี้ให้น้ำท่วมผ่านไปก่อน จะต้องให้ผู้รับเหมาดูว่าทรายอุดท่อระบายน้ำหรือไม่” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

ด้าน นายวิศณุ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวเสริมว่า จากการประชุมร่วมกับ รฟม. ขุดลอกท่อในพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ให้ท่อน้ำอุดตัน และการคืนผิวการจราจร รวมถึงความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ที่ไซต์ก่อสร้าง มีกองหินกองทราย เมื่อฝนตกลงมา ทำให้มีการชะล้างลงท่อระบายน้ำ รวมถึงต้องทำฟุตปาธให้ปลอดภัย เช่น วงเวียนบางเขน เพราะเมื่อน้ำท่วมทำให้มองไม่เห็น ทำให้ประชาชนเกิดอันตราย

Advertisement

เมื่อถามว่า กทม.รับมือน้ำท่วมแบบตั้งรับมากกว่าเชิงรุก จะสามารถทำเชิงรุกได้มากขึ้นหรือไม่?

นายชัชชาติกล่าวว่า เหตุการณ์วันนี้เกิดจากฝนตกหนัก มากกว่า 100 มิลลิเมตร และกำลังการนำน้ำออกไม่เพียงพอ โดยแผนตรงนี้แก้ระยะสั้นไม่ได้ ซึ่งแผนระยะยาวมีการรับมือฝนที่ตกหนักมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก ขนาดท่อระบายน้ำ ขนาดคลองอาจจะไม่เพียงพอ ต้องมีการทำคลองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องมีอุโมงค์บางตัวเชื่อมเป็น Pipe Jacking

“อุโมงค์อย่างเดียวตอบโจทย์ไม่ได้ เพราะฝนตกหลายที่ มันไม่ได้ตกตรงอุโมงค์หรอก การนำน้ำไปถึงอุโมงค์ ต้องมีระบบลำเลียงน้ำไปที่อุโมงค์ได้ เหมือนกับอุโมงค์คลองแสนแสบ แต่น้ำจากลาดพร้าวไปไม่ถึง เพราะคลองไม่มีประสิทธิภาพ” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์อาจจะแก้ไม่ได้ 1-2 เดือน ต้องวางแผนแล้วปรับ จากที่ทุ่มงบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท ที่อุโมงค์ อาจจะต้องแบ่งบางส่วนมาดูที่คลองให้เข้มแข็งขึ้น ทำเขื่อนริมคลอง ปรับเครื่องสูบน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เป็นสิ่งที่เตือนว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ฝนไม่ได้มา 60-70 มิลลิเมตรเหมือนแต่ก่อน ไม่ได้เกิดที่เราอย่างเดียว มันเกิดทั่วโลก เป็นปรากฏการณ์โลกร้อนชัดเจน เป็นอุทาหรณ์ ต่อไปต้องคิดระบบภาพรวม แนวคิดเดิมเช่นเรื่องอุโมงค์ อาจจะกลับมาคิดใหม่แล้วว่า ประตูระบายน้ำ ปั๊มน้ำ คลอง ทำเขื่อน นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ส่วนสิ่งที่ต้องทำแน่นอน คือเรื่องชุมชนที่อยู่ริมน้ำ เพราะทำให้ประสิทธิภาพคลองลดลง อย่างที่ไปคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร ชุมชนยังไม่ยอมออกจากคลอง เป็นเรื่องของการบริหารจะให้น้ำไหลเร็ว ต้องดูแลประชาชนกลุ่มนี้ด้วย ถ้ามีที่อยู่ใหม่ใกล้งาน ก็จะแก้ปัญหาได้เร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image