จิตแพทย์ยกเคสทหารกราดยิงเป็นบทเรียน ขอ! อย่าตีตราสายอาชีพ แนะแก้ที่ระบบ

จิตแพทย์ยกเคสทหารกราดยิงเป็นบทเรียน ขอ! อย่าตีตราสายอาชีพ แนะแก้ที่ระบบ

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีจ่าสิบเอก กราดยิงเพื่อนร่วมงานจนเสียชีวิตในวิทยาลัยการทัพบก กรมยุทธศึกษาทหารบกว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มองว่าไม่ได้เกิดจากการลอกเลียนแบบความรุนแรงของผู้ที่อยู่ในสายงานเดียวกันเมื่อครั้งก่อนหน้า เพราะไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน และทิ้งระยะห่างเป็นปี จึงไม่ใช่การเลียนแบบ แต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้เข้าถึงอาวุธได้ง่าย มีข้อดีในการบังคับบัญชาได้ แต่มีจุดอ่อนในกลุ่มผู้ที่มีปัญหา แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ หรือการใช้อำนาจมากเกินไป ซึ่งเป็น 2 ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบฝ่ายความมั่นคง ดังนั้น องค์กรทั่วโลกจึงต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด คือ 1.ทำให้การใช้อำนาจไม่ถูกต้องเกิดขึ้นน้อยที่สุด 2.ทำให้คนทำงานพูดได้ ขอคำปรึกษาได้ และ 3.การควบคุมการใช้อาวุธไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนที่เปราะบาง โดยมีจิตแพทย์ให้คำปรึกษาได้

“คนที่ใกล้ชิดกับอาวุธ เห็นทุกวัน ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีความรุนแรง แทนที่จะอยู่ในระดับคำพูด การชกต่อยกัน ก็กลายเป็นการลงมือด้วยอาวุธ” นพ.ยงยุทธกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาความรุนแรงของประเทศไทย นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ท่ามกลางความยากลำบากทางสังคม ทั้งวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจในประเทศ ภาวะความขัดแย้งต่างประเทศ ก็ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ก็เป็นการเติมความเครียดให้กับคนเป็นจำนวนมาก โดยรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น คือ 1.ภาวะซึมเศร้ามากขึ้นกว่าร้อยละ 20 2.ปัญหาการฆ่าตัวตายก็เพิ่มขึ้นตามมามาก ดังนั้น สังคมต้องร่วมกันทำให้เพิ่มขึ้นน้อยที่สุด หรือทำให้คนได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด และ 3.ความรุนแรงที่เกิดทั้งในและนอกครอบครัว เช่น ท้องถนน ที่ทำงาน ซึ่งความรุนแรงจะไต่ระดับจากคำพูด ความรุนแรงทางกายภาพ และสูงสุดคือ ทำร้ายกันจนเสียชีวิต

“โดยองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการควบคุมเครื่องมือที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง เช่น อาวุธปืน ทั้งที่ถูกและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนใดคนหนึ่งได้ง่าย เพราะเราคาดเดาไม่ได้ว่าใครจะมีความเครียดจนถึงใช้ความรุนแรง” นพ.ยงยุทธกล่าว และว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แบ่งสัดส่วนเป็น กลุ่มผู้ที่ป่วยทางจิตเพียงร้อยละ 4 ดังนั้น ร้อยละ 95 ที่เหลือเป็นความรุนแรงจากคนที่ไม่ป่วย แต่มีความเครียดสูง ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ เมื่อต้องดูกลุ่มเสี่ยงใหญ่ ก็สามารถดูจากการเอาอาชีพเป็นตัวตั้ง เช่น ฝ่ายความมั่นคงที่ง่ายต่อการใช้อาวุธ เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือมองภาพใหญ่ของสังคมเป็นตัวตั้ง ก็จะทำให้ร้อยละ 95 ของปัญหาดีขึ้น

Advertisement

นพ.ยงยุทธกล่าวต่อไปว่า สำหรับกรมสุขภาพจิต ได้ออกแบบ 2 โปรแกรม เพื่อเปิดรับองค์กรต่างๆ นำบุคลากรมาดูแลสุขภาพจิต คือ 1.โปรแกรมมาตรฐาน ที่จะดูแล 3 เรื่อง คือ การจัดการความเครียด การเงิน และการฝึกความสามารถในการสื่อสาร เช่น ให้หัวหน้ารับฟังลูกน้อง และ 2.โปรแกรมวิสัยทัศน์ เป็นการพัฒนาระดับจิตของบุคลากร เรียกว่า สติในองค์กร เป็นการนำจิตวิทยาสติ ให้คนที่คุณภาพจิตที่ดีขึ้น โดยทางกรมสุขภาพจิตก็ได้สร้างแรงจูงใจให้องค์กร โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้

“มีความพยายามจะทำโปรแกรมเหล่านี้ในองค์กรฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้เกิดการจัดการเชิงระบบ ให้หัวหน้าใส่ใจลูกน้องมากขึ้น ซึ่งกรมสุขภาพจิตก็มีความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงมาโดยตลอด ฉะนั้น จะมีการทบทวนและใช้โปรแกรมใหม่ๆ เข้ามาช่วย” นพ.ยงยุทธกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะสามารถนำมาเป็นบทเรียนได้ เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่องค์กรจะทบทวนตัวเอง ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นอย่ามองว่าเป็นการตีตราสายอาชีพ แต่ให้มองว่า ริงๆ แล้วการที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นได้ แสดงว่ามีช่องว่างในระบบที่เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image