กทม.ช่วย ‘สปสช.’ บริหารสิทธิบัตรทอง ‘ทวิดา’ ลั่น ระบบตึงต้องดึงมาทำเครือข่าย 1 ตุลา รักษาได้กว่า 755 แห่ง

กทม.ช่วยบริหารสิทธิ แก้ติดขัดปมเลิกบัตรทอง 9 รพ. ‘ทวิดา’ คุย สปสช.ดึงร่วมเครือข่าย ‘ใกล้หมอ’ ใช้สิทธิได้กว่า 755 หน่วยบริการปฐมภูมิ

สืบเนื่อง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 9 แห่ง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่าผู้มีสิทธิบัตรทองจากกรณีดังกล่าวได้รับผลกระทบประมาณ 200,000 คน นั้น

อ่านข่าว : สภา กทม.เตรียมเสนอญัตติถามแนวทางดูแลชาวกรุงหลัง สปสช.เลิกสิทธิบัตรทอง 9 รพ.
สปสช.แจงเหตุเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชน พบเบิกจ่ายไม่ตรงข้อเท็จจริง ลั่น! แสนคนยังดูแล

สปสช.จัดมาตรการรองรับ หลัง ยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชน

เมื่อวันที่ 26 กันยายน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการฯ สปสช. ชี้แจงเรื่องสิทธิบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในรายการ “บ่ายนี้มีคำตอบ” ซึ่งออกอากาศสดทางช่อง 9 อสมท. เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา

Advertisement

นพ.จเด็จ เลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีผู้ที่ใช้บัตรกับโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งอยู่จริง ประมาณ 20,000 คน โดยที่ใช้สิทธิสม่ำเสมอมีประมาณ 4,000 คน ซึ่งระยะเปลี่ยนผ่าน 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2565 หากประสงค์ใช้สิทธิกับโรงพยาบาลเดิม สปสช.ยังคงตามไปจ่ายให้ หลังจากนั้นให้เลือกใช้สิทธิกับโรงพยาบาลใหม่ได้ แต่สำหรับ 180,000 คน ที่ยังไม่เคยไปใช้สิทธิ สามารถเลือกใช้สิทธิกับโรงพยาบาลใดก็ได้ที่รับสิทธิบัตรทอง

ด้าน ผศ.ดร.ทวิดา รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ปัจจุบันทาง สปสช.พยายามบริหารจัดการทำให้ทุกคนในกรุงเทพฯ มีสิทธิในการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือการใช้ประกันของภาคเอกชน โดยปกติแล้วโรงพยาบาลในสังกัด กทม. รับคนที่ใช้สิทธิของ สปสช.ได้ทั้งหมด แต่ สปสช.ก็ยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลนอกสังกัด กทม. เอกชน โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยงานรัฐอื่น เพราะฉะนั้นมันต้องเป็นการทำงานในลักษณะเครือข่าย ว่าภายใต้การบริหารสิทธิเหล่านั้นทำอย่างไรให้ประชาชนไม่ติดขัด ซึ่งปัจจุบัน การให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ภายใต้หลากหลายหน่วยงาน เฉพาะโรงพยาบาลที่ กทม.ดูแล มี 12 แห่ง แต่ยังมีสังกัดหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีสถานพยาบาลในรูปแบบอื่นที่เป็นด่านแรก โดยในส่วนของ กทม. ดูแลศูนย์บริการสาธารณสุขซึ่งถือเป็นสถานพยาบาลปฐมภูมิที่มีมาตรฐาน 69 แห่งในพื้นที่ 50 เขต และมีศูนย์บริการฯ สาขาอีก 73 แห่ง ยังไม่รวมคลินิกอบอุ่นที่จดทะเบียนกับ สปสช.อีกกว่า 200 แห่ง และมีร้านขายยาที่มีเภสัชกรให้คำปรึกษาอีก ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรองรับการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนใน กทม. รวมประชากรแฝงแล้วมากกว่า 10 ล้านคน ในทุกๆ สิทธิ เมื่อเปรียบเทียบระบบการให้บริการที่มีกับจำนวนประชากรทำให้ดูเหมือนตึงอยู่เล็กน้อย

นพ.จเด็จ เลขาธิการ สปสช. กล่าวเสริมว่า จากการทำงานร่วมกับ กทม. ทำให้เชื่อมั่นว่า ปัจจุบันความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพระดับปฐมภูมิของ กทม.มีความชัดเจนและเป็นไปได้ ต่างจากช่วงโควิดระบาดเมื่อ 2 ปีก่อนที่หาเจ้าภาพไม่ได้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ไป หน่วยให้บริการปฐมภูมิสำหรับบัตรทองใน กทม.จะมีมากกว่า 755 แห่ง ประกอบด้วย ร้านยา 269 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นมากกว่า 300 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 ศูนย์ พร้อมด้วยศูนย์ฯ สาขาอีก 73 แห่ง รวมทั้งคลินิกของโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย ซึ่งจะสามารถให้บริการได้ต่อเนื่องตรงตามความต้องการของประชาชน

“พฤติกรรมของประชาชนในปัจจุบัน ต้องการรับบริการใกล้บ้าน ดังนั้น ร้านยาจึงเป็นด่านแรก ด่านที่สองคือคลินิก และด่านที่ 3 ถึงจะเป็นโรงพยาบาล การเดินทางไปโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนคลินิกที่มีอยู่ก็ยังไม่ทั่วถึงมากพอ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการขยายศูนย์บริการฯ หรือคลินิกให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหน่วยบริการปฐมภูมิได้ใกล้บ้านที่สุด โดย กทม.มีแนวคิดในการทำ Mobile Unit หรือหน่วยแพทย์/สาธารณสุขเคลื่อนที่ หรือจะมี Kiosk เข้าไปตั้งในชุมชนเพื่อให้คุยกับหมอผ่านทาง telemedicine ก็จะสามารถขยายให้เกิดหน่วยบริการที่เพิ่มขึ้นเป็น 3,000-4,000 แห่ง ซึ่งในมหานครระดับโลก เช่น ลอนดอน จะใช้อัตราส่วนหน่วยบริการปฐมภูมิต่อประชากร 1 : 2,000 ส่วนบ้านเราขณะนี้อยู่ที่ 1: 10,000 ซึ่งไม่ไกลเกินฝันที่กรุงเทพฯจะพัฒนาเป็นพื้นที่ปฐมภูมิเช่นเดียวกับเมืองชั้นนำทั่วโลก” นพ.จเด็จกล่าว และว่า

สำหรับ สิทธิบัตรทองที่จะได้รับบริการจากหน่วยฯ ปฐมภูมิ อาทิ บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค รับคำปรึกษา ตรวจเบาหวาน-ความดัน และคำแนะนำด้านสุขภาพต่างๆ ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีมากกว่า 700 แห่ง ส่วนร้านยาคุณภาพก็สามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้นและให้ยาไปกินได้สำหรับอาการที่ไม่ต้องไปนอนในโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตหากระบบ telemed เข้าไปถึงร้านขายยาได้ ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้หมอสามารถให้บริการแบบทางไกลได้เช่นกัน

ขณะที่ ผศ.ดร.ทวิดากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้ใหม่ว่าคลินิกและร้านยาใกล้บ้านก็สามารถพึ่งได้ หากประชาชนมีความมั่นใจในการดูแลของหน่วยบริการสุขภาพเหล่านี้การทำระบบปฐมภูมิก็มีโอกาสสำเร็จได้ ไม่เช่นนั้นก็จะทิ้งร้างไม่ได้ใช้งาน อย่างไรก็ดี หลังเปิดมาแล้วทำให้เห็นปัญหาอุปสรรค เช่น บางหน่วยบริการแน่นมาก บางแห่งสถานที่คับแคบไม่เอื้ออำนวย คุณหมอไม่พอ ขาดแคลนอุปกรณ์ การรอคิวนาน เพราะการไปใช้บริการยังกระจุกตัวอยู่ ซึ่ง กทม.จะต้องพัฒนาศูนย์ฯสาขาทั้ง 73 แห่งให้มีศักยภาพการบริการเป็นศูนย์ฯหลักให้ได้ เพิ่มจากเดิมมีอยู่ 69 ศูนย์ฯ ก็จะบริการครอบคลุมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการตรวจสุขภาพ รักษาเบื้องต้น การควบคุมป้องกันโรค การบริการทันตกรรม คลินิกดูแลเด็ก ตรวจครรภ์ การให้บริการวัคซีน หากสามารถทำมาตรฐานให้ครอบคลุมคลินิกอบอุ่นและร้านยาต่างๆ ด้วย ในอนาคตจะสามารถให้บริการทั่วถึง ซึ่งจะต้องพึ่งความสามารถของบุคลากร และทำให้มีบุคลากรมีเพียงพอด้วย

ทั้งนี้ กทม.ได้เปิด sandbox เพื่อทดลองระบบเหล่านี้ไปแล้ว 2 แห่ง คือ ดุสิตโมเดล ดูแลเขตพระนคร ดุสิต บางซื่อ และบางพลัด โดยมีวิชรพยาบาลเป็นแม่ข่ายอยู่เบื้องหลัง และราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์สำหรับพื้นที่บางแค หนองแขม ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ภาษีเจริญ โดยมี รพ.ราชพิพัฒน์เป็นแม่ข่ายดูแล ซึ่งเป็นความพยายามทำให้ระบบปฐมภูมิซึ่งเป็นหน้าด่านมีความแข็งแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ระบบหลักในโรงพยาบาลมีความพร้อมรองรับกรณีต้องส่งต่อด้วยเช่นกัน

ผศ.ดร.ทวิดากล่าวต่อว่า ปัจจุบันมี หลายหน่วยงานรวมทั้งกรุงเทพมหานครพยายามทำช่องทางและระบบบริการการข้อมูลสุขภาพขึ้นมา เช่น กทม.มีแอพพลิเคชั่น “หมอ กทม.” ยังไม่รวมแอพพ์ย่อยๆ ของแต่ละโรงพยาบาล สปสช.มี 1330 และศูนย์ฉุกเฉินด้านการแพทย์มี 1669 แต่เมื่อเราทำ Sand box ทำให้เราได้เห็นทั้งหมดว่าจะต้องนำมาเชื่อมโยงกัน จากนี้ไปหลังบ้านจะต้องมาคุยกันเพื่อเชื่อมระบบเข้าหากัน และบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน โดยจะต้องเป็นระบบที่ประชาชนเข้าแล้วไม่ต้องนั่งเลือก

“ขณะนี้ กรุงเทพมหานครกำลังทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยจัดทำแผนที่ทรัพยากรสาธารณสุข ให้เห็นว่ามีศูนย์บริการฯอยู่ตรงไหน รองรับประชาชนได้แค่ไหน ในส่วนของประชาชนที่เป็นโรคที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทาง เช่น โรคมะเร็ง ไต หัวใจ ฯลฯ ซึ่งมีความต้องการพบหมอมากกว่า การจะให้บริการผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ จำเป็นต้องปรับระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาล เพิ่มเตียง เพิ่มระบบที่ทันสมัย และเชื่อมต่อเครือข่ายกับโรงพยาบาลอื่นๆ ให้เข้มแข็งขึ้น ขณะนี้ทาง รพ.ของ สนพ.กทม. กำลังเพิ่มศักยภาพ ขณะนี้มีการเพิ่มจำนวนเตียงเป็น 2,587 เตียง จากข้อมูลเบื้องต้น สามารถแบ่งการบริหารจัดการเตียงให้ประชากรกลุ่มที่ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 ในแต่ละโรงพยาบาล จะทำให้สามารถรับส่งต่อประชากรได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 516,000 คน ถ้า สปสช.ประสาน รพ.สังกัดอื่นๆ ด้วยแล้ว การบริหารจัดการประชากรกลุ่มรับส่งต่ออีก 690,000 คน จึงคาดการณ์ว่าน่าจะบริหารจัดการร่วมกันได้ และจะช่วยกันพยายามให้มีปัญหาน้อยที่สุด

“หากเราทำทุกอย่างที่คุยกันนี้ได้ ไม่เพียงแค่ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังสามารถตอบสนองการให้บริการด้านสุขภาพให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ให้ประชาชนได้ ‘ใกล้หมอ’ ได้มากขึ้นในเวลาที่เร่งด่วนอีกด้วย” ผศ.ทวิดาระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image