‘ชาวบางกระเจ้า’ โอด น้ำเค็มทำเกษตรไม่ได้ วอน ‘ชัชชาติ’ ผันน้ำบำบัดเข้าพื้นที่ ผู้ว่าฯขอดู คุ้มไหมทำท่อเชื่อม

‘ชาวบางกระเจ้า’ โอด น้ำเค็มทำเกษตรไม่ได้ วอน ‘ชัชชาติ’ ผันน้ำบำบัดเข้าพื้นที่ ผู้ว่าฯขอดูความคุ้ม ทำท่อเชื่อมคลอง โผล่บางกระเจ้า

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติ เพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ กทม. กับพื้นที่บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ โดยมี นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ รศ.ดร.เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ หัวหน้าโครงการการจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมในพื้นที่สีเขียวบางกระเจ้า ผู้แทนชุมชนบางกะเจ้า และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ร่วมประชุม

สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการหารือความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ กทม. กับพื้นที่บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ โดยเฉพาะการขอใช้ประโยชน์จากน้ำจืดที่บำบัดแล้ว ที่ปล่องทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางช่องนนทรีให้ไปเจือจางน้ำเค็มที่ชุมชนบางกะเจ้า (ผ่านท่อระบายน้ำที่เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำ) เพื่อให้ได้น้ำจืดที่ใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ให้อยู่รอดจากการรุกรานของน้ำเค็มในฤดูแล้ง อันจะเป็นประโยชน์ต่อคนกรุงเทพฯ และส่วนร่วมต่อไป รวมทั้งเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่า ให้ได้ประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในการใช้น้ำที่เป็นทิศทางการพัฒนาในอนาคตอีกด้วย

โดยเวลา 15.00 น. นายชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติ เพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ กับพื้นที่บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ

นายชัชชาติกล่าวว่า บางกระเจ้าเป็นชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง เป็นพื้นที่ปอดให้กับกรุงเทพฯ พื้นที่บางพระเจ้าจัดเป็นผังเมืองประเภทเกษตรกรรม แต่ประสบปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุนสูง มีน้ำเค็มเข้าซึมที่ดินเยอะมาก ทำให้ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้

Advertisement

“ทางตัวแทนชุมชนเลยมาหารือ เพื่อให้ทาง กทม.ช่วยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียจากคลองช่องนนทรี วันละประมาณ 1 แสนลิตร และมีค่าความเค็มไม่สูงมาก ประมาณ 2.6 มิลลิกรัมต่อลิตร เข้าสู่คลองในพื้นที่บางกระเจ้า” นายชัชชาติเผย

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า กทม. คงต้องไปดูก่อน เพราะปัจจุบันมีโครงการผันน้ำที่ได้รับการบำบัดจากคลองช่องนนทรี เข้าสู่คลองช่องนนทรี คลองไผ่สิงโต คลองหัวลำโพง เพื่อให้น้ำในคลองมีความสะอาดมากขึ้น อีกทั้งต้องดูความคุ้มค่าในการลงทุน ที่จะต้องทำท่อไปโผล่ที่บางกระเจ้า ทั้งเงินลงทุนก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ

Advertisement

“ทางกรุงเทพฯ ได้ประโยชน์จากบางกระเจ้าเยอะ ในแง่พื้นที่สีเขียว ในแง่ปอดให้คนกรุงเทพฯด้วยซ้ำ อะไรที่เราร่วมมือกันได้ ผมก็ยินดี แต่ขอไปศึกษารายละเอียดก่อน อาจจะมีวิธีอื่นที่จะร่วมมือกันได้”

“ต้องขอขอบคุณชาวบางกระเจ้า ผมเคยไปวิ่ง เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ดี บางกระเจ้าเป็นพื้นที่เกษตรที่มีคุณภาพ อนาคตอาจจะเป็นแหล่งอาหารให้กับเราได้ ทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวที่ประชิดเมือง” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน รศ.ดร.เสาวลักษม์กล่าวขอบคุณนายชัชชาติ และเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารของ กทม. ที่เห็นความสำคัญและรับฟังข้อเสนอของทางบางกะเจ้า และสนับสนุนที่จะศึกษาต่อความเป็นไปได้ โดยหวังว่าจะได้มีความร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการน้ำมีคุณภาพที่ดีขึ้นในพื้นที่บางกะเจ้า ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นปอดของกรุงเทพฯ เป็นสิ่งแวดล้อมที่ใช้ร่วมกัน

ทั้งนี้ โครงการการจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ภายใต้เครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข โดยร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาน้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้ทำโครงการต่อยอดเรื่อง การหารือเชิงนโยบายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ซึ่งพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า ถูกขนานนามว่าเป็นปอดของกรุงเทพฯ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เนื่องจากลมจากอ่าวไทยจะพัดนำเอาออกซิเจนจากพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แห่งนี้ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปอดในเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย เข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงปีละ 9 เดือน จึงมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ แต่ขณะนี้ พื้นที่แห่งนี้ประสบความเสี่ยงในเรื่องน้ำหลายประการ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของพื้นที่สีเขียว จึงมีการร่วมกันแสวงหาทางออกที่เป็นไปได้ในการที่จะช่วยกันรักษาพื้นที่สีเขียวแห่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image