กรมแพทย์จ่อวิจัยสารซีบีดีในกัญชา หยอดใต้ลิ้นลดอาการถอนยาบ้า หวังเพิ่มทางเลือกบำบัดผู้ติดยา

กรมแพทย์จ่อวิจัยสารซีบีดีในกัญชา หยอดใต้ลิ้นลดอาการถอนยาบ้า หวังเพิ่มทางเลือกบำบัดผู้ติดยา

วันนี้ (20 ตุลาคม 2565) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์หลายประการ ที่ผ่านมา มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นผลสำเร็จของการใช้สารสกัดจากกัญชาซีบีดี (CBD) ในทางการแพทย์ เช่น โรคปลอกประสาทอักเสบ โรคลมชักบางชนิดในเด็ก เป็นต้น ซึ่งกัญชามีสารในกลุ่มที่เรียกว่า แคนนาบินอยด์ ที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ทีเอชซี (THC: Tetrahydrocannabinol) หรือ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล และซีบีดี (CBD: Cannabidiol) หรือ แคนนาบิไดออล

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร

“โดยสารทั้งสอง เมื่ออยู่ในร่างกาย จะจับกับตัวรับแคนนาบินอยด์ในระบบประสาท โดยพบว่า ซีบีดีทำให้เกิดอาการผ่อนคลาย ลดอาการวิตกกังวล ลดอาการทางจิต ลดอาการคลื่นไส้ และที่สำคัญไม่ทำให้มึนเมาหรือเสพติด” นพ.ธงชัย กล่าวและว่า สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาล (รพ.) ธัญญารักษ์ ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ในสังกัดกรมการแพทย์ ได้เล็งเห็นประโยชน์จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของซีบีดี โดยเฉพาะฤทธิ์คลายวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับ ลดอาการทางจิต โดยอาการเหล่านี้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ติดยาบ้า หรือ เมทแอมเฟตามีน และเกิดอาการถอนยา (amphetamine withdrawal syndrome) ซึ่งการเสพติดยาบ้าเป็นปัญหาหลักของประเทศไทย โดยข้อมูลจากระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) มีผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาปีละประมาน 200,000 ราย โดยเป็นผู้ที่ใช้ยาบ้าสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 75 และในปัจจุบันพบว่า อาการทางจิตจากยาบ้ามีแนวโน้มรุนแรงและพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพที่ดีพอในการรักษาผู้ติดยาบ้า ทำให้ผู้ป่วยมีการเสพยาซ้ำและก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

นพ.ธงชัย กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว จึงได้ทำแผนการศึกษาวิจัย โดยใช้สารสกัดซีบีดีชนิดหยอดใต้ลิ้น เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน เปรียบเทียบกับการใช้ยา Bupropion ซึ่งเป็นยาต้านซึมเศร้าที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการถอนยาเมทแอมเฟตามีน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จะสามารถใช้ซีบีดี เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า ลดการกลับไปเสพซ้ำ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนไทย ตลอดจนลดการนำเข้ายาในการรักษาจากต่างประเทศ เนื่องจากการวิจัยนี้ใช้ซีบีดีที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย

“ทั้งนี้ สามารถทำการศึกษาต่อยอดเกี่ยวกับสารสกัดซีบีดี นอกจากจะลดความอยากยาของเมทแอมเฟตามีนแล้ว ยังสามารถใช้ทดแทนผู้ที่เสพติดเมทแอมเฟตามีนได้ ซึ่งเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า เมทแอมเฟตามีน เป็นยาเสพติดที่อันตราย ประกอบด้วย สารโลหะหนัก ที่ทำลายสุขภาพร่างกาย และทำให้เกิดโรคทางจิตเวชที่รุนแรง ส่วนสารสกัดซีบีดีนั้น เป็นสารที่มีความปลอดภัย หากสามารถที่จะออกแบบมาเพื่อใช้ทดแทนการเสพติดเมทแอมเฟตามีนได้ ก็ถือว่าเป็นการใช้สารสกัดซีบีดีเพื่อการบำบัดผู้ติดเมทแอมเฟตามีน ตามแนวทางของการลดอันตรายจากการใช้ยา หรือ Harm reduction” นพ.ธงชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image