อย.ปรับปรุงข้อกำหนดผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชา-กัญชง 3 ฉบับ แนะผู้ประกอบการเร่งศึกษา

อย.ปรับปรุงข้อกำหนดผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชา-กัญชง 3 ฉบับ แนะผู้ประกอบการเร่งศึกษา

วันนี้ (25 ตุลาคม 2565) นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ว่า ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง รวม 3 ฉบับ ได้แก่

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 437) พ.ศ.2565 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชงฯ (ฉบับที่ 2) ได้ยกเลิกข้อกำหนดปริมาณสูงสุดของสาร CBD ในผลิตภัณฑ์จากเมล็ด กัญชงดังกล่าว ซึ่งตามประกาศเดิมให้ใช้เมล็ดกัญชง น้ำมัน โปรตีนจากเมล็ดกัญชงเป็นอาหารได้ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการ มีโปรตีนสูง แต่ต้องมีการตรวจวิเคราะห์ CBD และ THC ซึ่งตามข้อเท็จจริงพบว่าเมล็ดกัญชงไม่มี CBD และ THC แต่อาจปนเปื้อนได้บ้าง ประกาศฉบับนี้จึงกำหนดไม่ต้องตรวจ CBD เพื่อไม่ให้เป็นภาระจนเกินไป แต่ยังคงให้ตรวจ THC เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

ถัดมาเป็น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 438) พ.ศ.2565 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่ 2) เป็นการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานอาหารที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค กรณีกลุ่มเครื่องปรุงรส ให้มีสาร THC ไม่เกิน 0.0032% โดยน้ำหนัก และสาร CBD ไม่เกิน 0.0028% โดยน้ำหนัก เนื่องจากเครื่องปรุงรสจะใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยในการปรุงอาหาร ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นให้มีสาร THC ได้ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ

นพ.วิทิต กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ไม่ได้จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภคหรือขายเป็นวัตถุดิบให้กับสถานที่ผลิตอาหารเท่านั้น ให้กำหนดปริมาณ THC / CBD และคำเตือนให้เหมาะสมกับการผลิตอาหารในสถานที่ผลิตนั้น นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงข้อกำหนดการแสดงฉลากให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ให้ระบุข้อความว่า ไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้ง ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ ข้อความแสดงวิธีใช้ที่เข้าใจง่าย และกรณีที่ไม่ได้จำหน่ายตรงต่อผู้บริโภคต้องมีข้อความ “ห้ามจำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค”

Advertisement

สุดท้ายคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 439 พ.ศ.2565 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่ 2) มีสาระสำคัญคือเพิ่มเติมรายละเอียดข้อกำหนดกรณีสารสกัด CBD ที่ผสมกับวัตถุอื่นเพื่อช่วยในกระบวนการผลิตหรือเพื่อปรับแต่งคุณสมบัติการละลายน้ำของสารสกัด CBD ให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร และปรับแก้ไขข้อกำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและปริมาณสารสกัด CBD สูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้เหมาะสมมากขึ้น ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงศึกษารายละเอียดข้อกฎหมาย สามารถเข้าไปดูรายละเอียดประกาศได้ที่ https://food.fda.moph.go.th/law/announ_moph401-450.php เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไป

รองเลขาธิการ อย. กล่าวถึงที่มาของการแก้ไขประกาศทั้ง 3 ฉบับ ว่า เพื่อทำให้เกิดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของทางอุตสาหกรรม โดยที่ผู้บริโภคยังคงปลอดภัยอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากประกาศฉบับเก่าเมื่อเอาไปใช้จริง ก็พบปัญหาติดขัดในการผลิต

“โดยการแก้ไขประกาศฉบับที่ 437 เรื่องเมล็ดกัญชง ยกเลิกข้อกำหนดสารซีบีดีสูงสุดของผลิต เนื่องจากในเมล็ดกัญชงไม่มีสารซีบีดีอยู่แล้ว จากเดิมที่ให้ตรวจวิเคราะห์ปริมาณสาร แล้วกำหนดปริมาณสูงสุด แต่เมื่อตรวจแล้วไม่พบ จึงไม่มีความจำเป็นและประกาศยกเลิกเพื่อลดภาระของผู้ผลิต ขณะที่ประกาศฉบับที่ 438 ที่กำหนดเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชา กัญชง ที่เดิมคลุมอาหารทุกประเภท ว่าสารทีเอชซีต้องไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อ 1 หน่วยบรรจุ แต่เราพบปัญหาในเครื่องปรุงรส น้ำปลา ซอส ที่วิธีใช้ต้องนำไปปรุงกับอาหาร ต่างจากอาหารอื่นที่กินได้เลย ฉะนั้น ปริมาณทีเอชซีสูงสุดจึงไม่ควรใช้ค่าเดียวกัน จึงปรับให้เครื่องปรุงรสจะต้องมีสารทีเอชซีไม่เกินร้อยละ 0.0032 โดยน้ำหนัก และสารซีบีดีไม่เกินร้อยละ 0.0028 โดยน้ำหนัก เพื่อให้เหมาะกับเครื่องปรุงรส และต้องระบุข้างขวดว่าใช้ครั้งละไม่เกินกี่หยด หรือกี่ช้อน ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นให้มีไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม และซีบีดีไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัม” นพ.วิทิต กล่าวและว่า ส่วนประกาศที่ 439 เป็นการแก้ไขข้อกำหนดสารสกัดซีบีดีที่เรากำหนดว่า จะต้องมีปริมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 โดยน้ำหนัก แต่เมื่อซีบีดีถูกละลายก็ทำให้เปอร์เซ็นต์ลดลงไม่ถึงร้อยละ 30 จึงต้องปรับประกาศว่า กรณีที่มีการผสมสารอื่นลงไป ก็สามารถมีซีบีดีต่ำกว่าร้อยละ 30 ทั้งนี้ ประกาศทั้ง 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image