กรมสตรี-กัน จอมพลัง รุดช่วย ‘หญิงถูกเผา’ เหยื่อความรุนแรงครอบครัว เล็งวางแผนช่วยระยะยาว

กรมสตรี-กัน จอมพลัง รุดช่วย ‘หญิงถูกเผา’ เหยื่อความรุนแรงครอบครัว เล็งวางแผนช่วยระยะยาว

กรณีมติชนออนไลน์ได้เผยแพร่เรื่องราวของ ‘อุ๋ม-สุรัตนา’ ผู้หญิงที่ถูกอดีตสามีราดน้ำมันและจุดไฟเผา ถึงเรื่องราวชีวิต ความรุนแรงในครอบครัว และขอความช่วยเหลือ เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงนั้น

จากข่าว

– เปิดใจ ’ผู้หญิงถูกเผา’ พิษหึงหวง ผ่านมา 7 เดือน ชีวิตพังทลาย ปัญหาโครงสร้างไร้รัฐเหลียวแล

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่เขตบางเขน กรุงเทพฯ นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มอบหมายให้ นางรุ่งทิวา สุดแดน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมด้วยนายนริสสร แสงแก้ว สก.เขตบางเขน และ นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือกัน จอมพลัง ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สค.ได้ชี้แจงแนวทางการช่วยเหลือ ดังนี้

1.ประสานกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. มอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวให้แก่บุตรของผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว

2.ส่งตัวผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีแพทย์เฉพาะทางรักษาผู้ป่วยไฟไหม้ ทำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงมีอาการที่ดีขึ้น

Advertisement

3.ติดตามด้านกฎหมาย ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา ตัดสินคดี ในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น.

4.ติดตามเรื่องเงินเยียวยาค่าเสียหาย ทำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้รับเงินเยียวยาค่าเสียหายเรียบร้อยแล้ว เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตและค่ารักษาพยาบาล

อย่างไรก็ตาม สค.ได้ช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วยการมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล ให้คำแนะนำ ปรึกษา พร้อมให้กำลังใจแก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรง

นางรุ่งทิวา สุดแดน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
นางรุ่งทิวา สุดแดน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

ด้าน นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรม สค. กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมทีมสหวิชาชีพช่วยเคสอุ๋ม-สุรัตนา ว่า ทีมสหวิชาชีพได้วิเคราะห์ปัญหาเคสนี้ พบว่าทางผู้เสียหายและครอบครัวมีความเครียด เรื่องการดูแลรักษาและค่าใช้จ่าย อย่างลูกชายคนโตที่เดิมทีคอยดูแลทำแผลให้ผู้เสียหาย ตอนนี้เปิดเทอมแล้ว ก็กังวลว่าช่วงเวลาต้องไปเรียนจะไม่มีใครดูแล ตรงส่วนนี้ สค.ได้ประสาน อพม.ในพื้นที่เตรียมเข้าดูแลให้ได้ แต่เบื้องต้นพบว่าผู้เสียหายยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยากให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลให้บาดแผลดีขึ้นก่อน จึงมอบให้ทีมงานประสานโรงพยาบาลภูมิพลฯ ที่ผู้เสียหายเคยมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้ารักษาก่อน

อธิบดีสค. กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความกังวลค่ารักษา ค่าใช้จ่าย แม้ผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยาจากกรมคุ้มครองสิทธิ จำนวน 170,000 บาทไปแล้ว แต่ด้วยมีค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลสูง และทำให้เงินกำลังจะหมดนั้น สค.จะประสานหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย อย่างศูนย์ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.จะสามารถซัพพอร์ตแพมเพริส อุปกรณ์ทำแผลได้หรือไม่ รวมถึงประสานโรงพยาบาลของรัฐ ว่าพอจะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือกรณีพิเศษอะไรช่วยได้หรือไม่ ก็พยายามช่วยภายใต้ระเบียบของรัฐที่มีก่อน แต่หากไม่พอจริงๆ ก็จะหาสปอนเซอร์อื่นๆ มาสนับสนุน

“จริงๆ เราช่วยเคสนี้มาตลอด ช่วยประสานงาน ติดต่อตลอด เพียงอาจไม่บรรลุผล ต่อไปนี้ก็อาจต้องมาวิเคราะห์ผล หากทำวิธีการนี้ไม่ได้ ต้องหาวิธีการอื่นมาช่วย ก็ต้องติดตามเคสมากขึ้น ขณะที่เคสนี้จากนี้ก็ดูแลระยะยาว หากพิการจะพามาจดทะเบียน ฝึกอาชีพได้” นางจินตนาและว่า

อย่างไรก็ตาม ดิฉันได้เน้นย้ำเรื่องการติดตามเคสผู้เสียหายความรุนแรง จากนี้ไม่เพียงให้เงินสงเคราะห์แล้วจบ อาจต้องลงพื้นที่เดือนละครั้งหรือ 3 เดือนครั้ง ดูเป็นรายเคส นอกจากนี้ มองว่าจากนี้ สค.จะต้องมีทีมสหวิชาชีพที่เป็นคณะทำงานเป็นทางการ ไม่ใช่มารวมกันเคสต่อเคส ก็ต้องทำให้ชัดเจนขึ้น

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรม สค.

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image