สธ. อวดผลงานศึกษา ‘กัญชาทางการแพทย์’ ชี้ รักษาผู้ป่วยได้ดี ช่วยโรคกาย-ผิวหนังอักเสบ

สธ. อวดผลงานศึกษา “กัญชาทางการแพทย์” ชี้ รักษาผู้ป่วยได้ดี ช่วยโรคกาย-ผิวหนังอักเสบ

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา และ นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และพญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง แถลงข่าวกัญชาทางการแพทย์รักษาโรคและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

นพ.โอภาสกล่าวว่า ด้วยนโยบายของรัฐบาลอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และวิจัยในปี 2562 โดยกำหนดในแผนบริการสุขภาพ (Service plan) สาขากัญชาทางการแพทย์ โดยปีงบประมาณ 2565 มีการดำเนินการครอบคลุมหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขกว่า 90% ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชา มากขึ้นถึง 159.64% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยประคับประคองกว่า 8,000 คน ส่วนการวิจัยมีกว่า 60 เรื่อง ครอบคลุมทั้งการปลูก การผลิต การใช้ และการวางระบบเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ส่งผลให้ปัจจุบันมียากัญชาถึง 10 รายการ ถูกคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ฉะนั้น สำหรับปี 2566 กรมการแพทย์ได้จัดทำคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็น 3 กลุ่ม คือ ได้ประโยชน์ น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะได้ประโยชน์ นอกจากนี้ จะขยายการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ ไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ ให้ครอบคลุม ส่วนศึกษาวิจัยจะเน้นตอบโจทย์การสร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนของกัญชาทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะมียาที่ปลูกและผลิตได้ในประเทศ และเป็นหลักฐานสนับสนุนการคัดเลือกเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในบัญชีหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

นพ.ธงชัยกล่าวว่า ในปี 2566 กรมการแพทย์ในฐานะกรมวิชาการจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศึกษา ค้นคว้าและวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับภารกิจศูนย์ความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย กรมการแพทย์ ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ พร้อมร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ในการสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์รักษาโรคและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน สมดังปณิธานกรมการแพทย์ “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต”

นพ.สรายุทธ์กล่าวว่า สบยช.เตรียมวิจัยการนำสารสกัด CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น มาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิต (Amisulpride) เพื่อช่วยลดอาการทางจิตและลดพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง โดยวางแผนศึกษาในผู้ป่วยเสพติดเมทแอมเฟตามีนที่มีอาการทางจิตเวช เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ยาต้านอาการทางจิตร่วมกับ CBD กับกลุ่มที่ได้ยาต้านอาการทางจิตร่วมกับยาหลอก รวมถึงเตรียมวิจัยนำสารสกัด CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น มาใช้เพื่อลดอาการถอนและอาการอยากเมทแอมเฟตามีน เปรียบเทียบกับยาทดแทน (Methylphenidate) โดยวางแผนศึกษาในผู้ป่วยเสพติดเมทแอมเฟตามีนที่ไม่มีอาการทางจิตเวช เพื่อลดอาการถอนยา อาการอยากยา และยังพัฒนาเครื่องตรวจสารกัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการรักษาผู้ป่วยด้วยสารสกัดกัญชา

Advertisement

 

นพ.ธนินทร์กล่าวว่า ศึกษาวิจัยติดตามการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็กด้วยสารสกัดกัญชา CBD สูง ร่วมกับยากันชักหลายชนิด เป็นระยะเวลา 12 เดือน จำนวน 14 ราย พบว่า ผู้ป่วยมีอาการชักรุนแรงลดลง 50% ในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง และลดอาการชักได้ 100% สัดส่วน 14% ทุกรายมีผลข้างเคียงแต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และมักเกิดในช่วง 3 เดือนแรก จึงควรเริ่มยาในขนาดต่ำ เพิ่มขนาดอย่างช้าๆ และเฝ้าระวังผลข้างเคียง ถือว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 3 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เบิกจ่ายในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นำไปสู่การเสนอเข้าสู่บัญชียาหลัก บัญชี 1 ในปี 2567 ทั้งนี้ มีข้อมูลสนับสนุนถึงสารสกัดกัญชาทางการแพทย์สูตร THC:CBD 1:1 (THC 2.7 mg : CBD 2.5 mg) ในลักษณะยาพ่นที่ดูดซึมผ่านช่องปาก มีประสิทธิภาพลดอาการเกร็งและอาการปวดที่เกิดจากโรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ (Multiple sclerosis : MS)

ส่วนโรคพาร์กินสัน การใช้กัญชาทางการแพทย์ในกลุ่ม Cannabidiol เป็นยาเสริมการรักษาโรคพาร์กินสันจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย ซึ่งมีการศึกษาขนาดเล็กจำนวน 21 คน ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ พบว่า คะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้นในกลุ่มที่ใช้ CBD ขนาด 300 มิลลิกรัม อีกการศึกษามีผู้เข้าร่วมวิจัย 4 คน พบว่า สาร CBD สามารถลดพฤติกรรมผิดปกติขณะนอน และมีการศึกษาในผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการทางจิต 6 คน ให้สาร CBD 150 มิลลิกรัมต่อวัน เพิ่มขนาดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ลดอาการทางจิตได้โดยที่ไม่ทำให้อาการแย่ลงและไม่ก่ออาการข้างเคียง นอกจากนี้ มีการศึกษาหลายชิ้นในมนุษย์ พบว่า CBD ไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงแม้ใช้ในขนาดสูง ดังนั้น การใช้สารสกัดกัญชาจึงมีความปลอดภัยและน่าจะมีประโยชน์ในการใช้เป็นยาเสริมรักษาโรคพาร์กินสัน อาจช่วยลดอาการปวดเกร็ง อาการยุกยิก และการเคลื่อนไหวช้า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

Advertisement

นพ.สกานต์กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันมะเร็งแห่งชาติให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคองผ่านคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ลดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษา ไม่ได้มุ่งผลการรักษาต่อก้อนมะเร็งโดยตรง ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2565 มีผู้รับบริการรายใหม่แผนปัจจุบัน 433 ราย แผนไทย 52 ราย ติดตามการรักษา 821 ครั้ง ให้คำปรึกษา 1,441 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอมากที่สุด รองลงมาคือมะเร็งด้านนรีเวช ปอด ฯลฯ ผู้ป่วย 70% อยู่ในระยะที่ 4 มักมาด้วยอาการนอนไม่หลับ 39% ปวด 35% หลังให้การดูแลมีอาการดีขึ้น 58% ส่วนการวิจัยสารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็งในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งได้ผลดีในเซลล์มะเร็งตับอ่อน เซลล์มะเร็งท่อน้ำดี และเซลล์มะเร็งเต้านม เมื่อศึกษาต่อในหนูทดลอง เปรียบเทียบ 5 กลุ่ม คือ กินยาหลอก ได้รับยาเคมีบำบัด ได้รับสารสกัดกัญชาขนาดต่ำ กลาง และสูง พบว่า สารสกัดกัญชาไม่มีผลต่ออัตราการกินอาหาร น้ำหนักตัว และผลทางโลหิตวิทยาของหนูทดลอง สามารถลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง และเพิ่มการตายแบบ Apoptosis ของเซลล์มะเร็งเต้านม ซึ่งผลวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินความปลอดภัยและศักยภาพของสารสกัดกัญชาในการรักษาโรคมะเร็งในงานวิจัยในมนุษย์และผู้ป่วยมะเร็งได้ต่อไป

พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า สาร Canabidiol (CBD) ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีความปลอดภัย โดย CBD นั้น มีสรรพคุณเด่น 3 ประการ คือ 1.ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammation) 2.ฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ (antioxidant) 3.ปรับสมดุลภูมิคุ้มกัน (immunomodulatory effects) สามารถนำกัญชามาใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับผิวหนังและในด้านเวชสำอาง โดยด้านการรักษาโรคผิว เช่น โรคสะเก็ดเงิน ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง สิว ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการวิจัย ส่วนในด้านเวชสำอางนั้น สถาบันโรคผิวหนัง ได้ค้นคว้าวิจัยสูตรเวชสำอางต้นแบบมาแล้ว 18 สูตรตำรับ ทั้งยังพัฒนาปรับระดับการใช้เทคโนโลยีให้สูงขึ้น โดยใช้นาโนเทคโนโลยี (Nanoencapsulation) เข้ามาช่วยในการละลายและเพิ่มความคงตัวของตำรับ พร้อมที่จะถ่ายทอดให้ภาคเอกชน คือ บริษัท สยามเวลเนส เอมารา ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายในอุตสาหกรรมเวชสำอางขนาดใหญ่ และ บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป เจ้าของธุรกิจสปาแอนด์เวลเนส Let’s relax ซึ่งเป็นสปาระดับสูงที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อยกระดับไปสู่ Medical and Wellness Service ครบวงจร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image