รพ.จุฬาภรณ์ เปิดศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราช ขยายศักยภาพ 400 เตียง พร้อมให้บริการ 9 ม.ค.66

รพ.จุฬาภรณ์ เปิดศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราช ขยายศักยภาพ 400 เตียง พร้อมให้บริการ 9 ม.ค.66

วันนี้ (4 ธันวาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5 ธันวาคม 2565 และถวายเป็นพระกุศลแด่ ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และองค์ประธานผู้ทรงก่อตั้ง รพ.จุฬาภรณ์ พร้อมทำบุญขึ้นอาคารแห่งใหม่โครงการศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โดยมีคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล บุคลากร คณาจารย์ และนักศึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมพิธี

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า เดิมมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง 100 เตียง ต่อมา องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตั้งพระทัยถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงจัดตั้งศูนย์การแพทย์ฯ นี้ และพระราชทานนามศูนย์การแพทย์แห่งนี้ว่า “ภัทรมหาราชานุสรณ์” มีความหมายว่า ที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งนี้ ศูนย์การแพทย์ฯ แห่งนี้ เป็นส่วนต่อขยาย ยกระดับเป็น รพ.ตติยภูมิ เพิ่มเตียงเป็น 400 เตียง โดยตึกใหม่แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

Advertisement

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ศูนย์การแพทย์ฯ แห่งนี้ ประกอบด้วยความเป็นเลิศ 5 ศูนย์ ได้แก่ 1.หัวใจและหลอดเลือด 2.ออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) 3.ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษา 4.มะเร็งวิทยา และ 5.ทางเดินอาหาร เพื่อเสริมการทำงานศูนย์มะเร็งเดิม โดยศูนย์การรักษาที่เริ่มเปิดให้บริการในระยะแรก อาทิ หัวใจและหลอดเลือด ออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษา อายุรกรรม ตรวจสุขภาพ อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน ผิวหนังและเลเซอร์ เป็นต้น

“เริ่มต้นองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อยากให้อาคารนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เป็น รพ.ที่คนเดินเข้ามาแล้วรู้สึกสดชื่น สบายใจ ในด้านบริการทุกสาขาของการแพทย์ มีหอผู้ป่วยวิกฤต และมีการฝึกการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และพยาบาล โดยเราจะเปิดซอฟต์รัน วันที่ 9 มกราคม 2566 จากนั้นจะค่อยๆ ทยอยจากศูนย์มะเร็งเดิมเข้ามา ซึ่งจะใช้เวลา 12-18 เดือน เมื่อสมบูรณ์แล้ว องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็จะเสด็จเปิดศูนย์ฯ” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ศูนย์การแพทย์ฯ แห่งนี้ มุ่งสู่มาตรฐานตามเกณฑ์การรับรอง LEED เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสุขภาพมนุษย์และอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ การออกแบบที่มุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน การเลือกใช้วัสดุปลอดสารพิษเพื่อลดมลพิษทางอากาศและสารที่อาจทำให้ก่อโรคในร่างกาย ระบบจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศเพื่อส่งเสริมกิจกรรมสำหรับผู้ใช้อาคาร ผู้ป่วย นักศึกษา และบุคลากร มีที่จอดรถประสิทธิภาพสูง เพื่อส่งเสริมการเลือกใช้รถประหยัดเชื้อเพลิงหรือพลังงานทางเลือก เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image