กรมควบคุมโรค ชี้ หลาย รพ.ตื่นตัว เปิดวอร์ดโควิดรับผู้ป่วย ภาพรวมครองเตียง 8.5%

กรมควบคุมโรค ชี้ หลาย รพ.ตื่นตัว เปิดวอร์ดโควิดรองรับผู้ป่วย ภาพรวมครองเตียง 8.5% ยังจัดการได้ ขอประชาชนอย่ากังวล ให้ไปฉีดวัคซีน

วันนี้ (13 ธันวาคม 2565) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีรายงานว่าหลายจังหวัดต้องเปิดวอร์ดโควิด-19 เพิ่ม ว่า ตอนที่โควิด-19 ระบาดทุกโรงพยาบาล (รพ.) จะใช้ศักยภาพเตียงที่มีมาดูแลโควิด-19 ทั้งหมด พอสถานการณ์ดีขึ้นก็ปรับกลับไปดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ แต่ตอนนี้หลาย รพ.คิดว่าต้องเตรียมความพร้อม เพราะเริ่มมีผู้ป่วยเพิ่ม จึงปรับระบบเตียงกลับมาเตรียมดูแลโควิด-19 อีก แต่ภาพรวมการครองเตียงยังไม่ได้เป็นปัญหา ซึ่งตัวเลขรายงานเมื่อเช้าวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ผู้ป่วยปอดอักเสบ 649 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 385 ราย ถือว่าเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนไม่มากนัก อัตราการครองเตียงในกลุ่มผู้ป่วยระดับ 2-3 หรือเตียงเหลือง แดง อยู่ในระดับที่จัดการได้ คือประมาณ ร้อยละ 8.5 ของเตียงทั้งหมด แต่มีบางจังหวัดรับส่งต่อผู้ป่วยอาจจะขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 ซึ่งก็ยังไหว เพราะระบบเราสามารถเฉลี่ยข้ามเขตสุขภาพได้

“เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่เราต่ำๆ ใช้เตียงแค่ร้อยละ 5 ตอนนี้ขึ้นมาร้อยละ 8.5 ก็ยังไหว ส่วนที่เคยระบาดรุนแรงจริงๆ ขึ้นไปร้อยละ 20-30 ทั้งนี้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะตอนนี้เราฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อจึงไม่ป่วยหนัก รอได้” นพ.โสภณกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันเมื่อมีการพบศพ แล้วมีการตรวจ ATK พบติดโควิด-19 ในตอนหลังทำให้หลายคนยังตกใจ นพ.โสภณกล่าวว่า เบื้องต้นต้องมองก่อนว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เปรียบเทียบหลังรอบนี้แล้ว โควิด-19 ก็เหมือนไข้หวัดใหญ่ ที่อาจจะมีการป่วยและเสียชีวิตได้ มีการติดเชื้อได้ ซึ่งเชื้อที่จะเจอบ่อยจากนี้ก็จะเป็น 2 เชื้อนี้ ดังนั้น หากดูแลตัวเองดี กังวลว่าจะรับเชื้อ เวลาจัดการกับศพต่างๆ ก็สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ ก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องไปตรวจ ATK กับศพอีก แล้วนำศพไปจัดการในรูปแบบที่ปลอดภัย เนื่องจากว่าศพไม่แพร่เชื้อ เพราะว่าศพไม่ไอ ไม่จาม เพียงแต่คนเรามีโอกาสเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเสมอ โควิด-19 ก็เหมือนกัน ดังนั้น การตรวจโควิด-19 อาจจะไม่ได้ประโยชน์นักในช่วงหลังจากนี้

นพ.โสภณกล่าวว่า ส่วนเรื่องของสัดส่วนการเสียชีวิตนั้น จริงๆ ต้องดูลักษณะของการเกิดโรคก่อน หากเป็นการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จะต้องมีภาวะปอดอักเสบก่อน ทำให้ปอดทำงานไม่ได้ ระบบทางเดินหายใจทำงานล้มเหลว จึงจะเชื่อได้ว่าโควิด-19 ทำให้เสียชีวิต แต่กรณีที่ป่วยเป็นโรคอื่นๆ อาจจะมีติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเป็นโรคหัวใจ แต่ในช่วงนั้นอาจจะมีเชื้อโควิด-19 เยอะ จึงอาจจะเป็นคนที่เสียชีวิตร่วมโควิด-19 แต่ไม่ได้เกิดจากโควิด-19 โดยตรง ซึ่งกรณีนี้พบได้กว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image