‘สภากทม.’ ฉลุย 2 ร่าง ประเดิมนัดแรกปี 66 เตรียมลุยสร้างที่อยู่ช่วยคนจน – ให้รางวัลหน่วยงาน กทม.บริการเยี่ยมยอด

‘สภากทม.’ ประชุมนัดแรกปี 66 ส.ก.ฉลุย 2 ร่างข้อบัญญัติ สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยกทม. ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส – ให้รางวัล หน่วยงาน กทม. บริการยอดเยี่ยม

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ( ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 พร้อมด้วยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มีผู้เข้าร่วมได้แก่ ส.ก. คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครทั้งคณะ ทีมคณะที่ปรึกษา ผู้ว่าฯกทม. คณะเลขานุการผู้ว่าฯ กทม.

โดยมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี นั่งเป็นประธานสภา กทม. และ นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ ส.ก.เขตคันนายาว เป็นรองประธานสภา กทม.คนที่ 1

อ่านข่าว : ส.ก.ท้วงผู้ว่าฯ มาจากเลือกตั้ง แต่จะแต่งตั้ง ? ‘เฮียล้าน’ กลัวสร้างภาระ แนะชัชชาติคิดใหม่ ‘ตั้งสภาคนเมืองฯ’

‘ชัชชาติ’ หอบ วิ่งเข้าสภากทม. ย้ำ ‘สภาคนเมืองฯ’ ไม่ได้ตั้งมาแทน ส.ข. รอเลือกตั้ง ‘ติดคำสั่งคสช.’

Advertisement

‘ส.ก.พญาไท’ ลั่น ตรวจสอบกันเองไม่มีประโยชน์ ขอตั้งคกก. ‘สแกนความคุ้มใช้งบ กทม.’ ทำโครงการปี66

ในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร ตามญัตติของ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังสำนักงานเขต เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพมหานครเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร ตามญัตติของ นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาสร้างโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร

Advertisement

จากนั้น สภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ในวาระที่สองและวาระที่สาม 2 ญัตติ ตามที่ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาเสนอ ดังนี้ นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ ส.ก.เขตคลองเตย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา ญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย พ.ศ…. ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม

ทั้งนี้ เนื่องจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับเป็นเวลานานมีเนื้อหาไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาโดยยึดหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบ และเห็นควรให้มีการแก้ไขร่างข้อบัญญัติในประเด็นต่างๆ อาทิ การเพิ่มคำนิยาม “ผู้มีรายได้น้อย” และ “ผู้ด้อยโอกาส” ดังนี้

“ผู้มีรายได้น้อย” หมายความว่า ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผู้มีรายได้แต่ละเดือนไม่แน่นอน เช่น อาชีพรับจ้างทั่วไป รับจ้างรายวัน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม่บ้าน เกษตรกร ค้าขายประเภทหาบเร่แผงลอย

2.กลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างแน่นอน เช่น พนักงานลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตามระเบียบที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด

“ผู้ด้อยโอกาส” หมายความว่า ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม อัคคีภัย ภัยธรรมชาติ ภัยสงคราม และสาธารณภัย รวมถึงผู้ที่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ตลอดจนผู้ประสบปัญหาที่ยังไม่มีองค์กรหลักรับผิดชอบอันจะส่งผลให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เท่าเทียมกับผู้อื่น เช่น คนยากจน คนเร่ร่อน ผู้พ้นโทษ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และครอบครัว หรือตามระเบียบที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเป็นเอกฉันท์ และจะจัดส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป

จากนั้น นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รางวัลคุณภาพการให้บริการของกรุงเทพมหานคร พ.ศ….. ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อให้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม

นายสุทธิชัย ได้กล่าวขอบคุณกรรมการทุกท่านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทำให้คณะกรรมการวิสามัญฯ สามารถพิจารณาร่างข้อบัญญัติฉบับนี้แล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทำให้ข้าราชการมีการแข่งขันกันในระดับองค์กรและสำนักงานเขตได้มีโอกาสแข่งขันเท่าเทียมกับหน่วยงานระดับสำนัก รวมถึงร่างข้อบบัญญัติฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้ ส.ก.ได้มีโอกาสเข้าร่วมพิจารณาประเมินผลหน่วยงาน ร่วมกับผู้แทนซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง เพื่อให้การพิจารณารางวัลมีความเป็นธรรมมากที่สุด

สำหรับ “รางวัลคุณภาพการให้บริการ” หมายความว่า รางวัลที่ให้แก่หน่วยงานตามผลการประเมินและพิจารณาตัดสินคุณภาพผลงานของหน่วยงานระดับกรุงเทพมหานครและระดับสำนักงานเขต ประเภทกระบวนงาน นวัตกรรมการให้บริการ การมีส่วนร่วมหรือประเภทอื่นตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนด”

โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ประเภท การกำหนดอัตรา และการเบิกจ่ายเงินรางวัลคุณภาพการให้บริการให้แก่หน่วยงาน ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด และให้มีคณะกรรมการพิจารณารางวัลคุณภาพการให้บริการของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ปลัดกรุงเทพมหานคร หรือรองปลัดกรุงเทพมหานครที่ปลัดกรุงเทพมหานครมอบหมายเป็นประธาน ประธานสภากรุงเทพมหานครหรือรองประธานสภากรุงเทพมหานครที่ประธานสภากรุงเทพมหานครมอบหมาย ผู้อำนวยการสำนักการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครที่หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งจำนวนสองคน เป็นกรรมการ เลขานุการจำนวนหนึ่งคน และผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคนให้ประธานแต่งตั้ง

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รางวัลคุณภาพการให้บริการของกรุงเทพมหานคร พ.ศ….. ในวาระที่สองและวาระที่สาม และจะจัดส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image