จิตแพทย์ เปิดต้นตอ “บูลลี่” ในเด็ก ชี้ ภูมิใจบนความเจ็บปวดของคนอื่น เตือน พ่อแม่อย่ามองข้ามฟางเส้นสุดท้ายของลูก

จิตแพทย์ เผยต้นตอการบูลลี่ในเด็ก ก่อปัญหาความรุนแรง บางคนถอดแบบจากครอบครัว เรื่องที่เอามาล้อเลียนเกิดขึ้นตามช่วงวัย สร้างความภูมิใจบนความเจ็บปวดของคนอื่น เตือน พ่อแม่อย่ามองข้ามสิ่งที่ลูกจะเล่า เป็นสัญญาณเตือนฟางเส้นสุดท้าย

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีปัญหาการบูลลี่ในสังคมไทยในขณะนี้ว่า ยอมรับว่าการบูลลี่เกิดมากขึ้น โดยในเด็กนั้น มีทั้งการเป็นคนบูลลี่คนอื่นและเป็นเหยื่อที่ถูกบูลลี่ เด็กที่ไปบูลลี่คนอื่นส่วนหนึ่งจะมีบาดแผลจากจิตใจจากครอบครัว คนที่มีต้นทุนในครอบครัวที่เป็นจุดอ่อนอยู่แล้ว ถ้ามีการแสดงออกไปในทิศทางที่เกรี้ยวกราด หลายคนจากเลือกเป็นคนที่จะบูลลี่คนอื่น แต่อีกหลายคนก็อาจจะกลายเป็นเหยื่อของการบูลลี่ ดังนั้นทั้งผู้บูลลี่และผู้ถูกบูลลี่ก็มีสิ่งที่น่าเห็นใจ และต้องช่วยเหลือทั้งคู่แต่คนละรูปแบบ ทิศทางของการบูลลี่ในระยะหลัง สังคมมีความก้าวร้าวรุนแรงและมีตัวอย่างมากขึ้น ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีการติดตาม และสร้างหลักสูตรป้องกันการบูลลี่ โดยถอดบทเรียนจากเด็กที่ถูกบูลลี่ และเด็กที่บูลลี่คนอื่น นำมาถอดเป็นประสบการณ์ถ่ายทอดให้คนได้เรียนรู้การไม่ไปบูลลี่คนอื่น หรือรู้วิธีการที่จะช่วยเหลือคนที่ถูกบูลลี่ให้ถูกต้อง

“คนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยคือ ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และกลุ่มเพื่อน เพราะถ้าปล่อยให้เด็กไหลไปธรรมชาติของการเป็นผู้บูลลี่ ก็จะเรียนรู้ที่จะแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น เห็นความเจ็บปวดของเพื่อนเป็นความภาคภูมิใจของตนเอง เพราะไม่สามารถหาความภูมิใจจากเรื่องอื่นได้ ส่วนเด็กที่ถูกบูลลี่ ก็เจ็บปวด มองไม่เห็นที่พึ่งก็จมลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น การเข้าไปเกี่ยวข้องของครู ผู้ปกครอง โรงเรียน  และกลุ่มเพื่อนกันเอง จึงมีความสำคัญ โดยสร้างบรรยากาศ ค่านิยม ที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทิศทางที่สร้างสรรค์ของตัวเอง เพิ่มความภาคภูมิใจของตัวเองอย่างถูกต้อง” พญ.อัมพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องที่เด็กนำมาบูลลี่กันมีเรื่องใดบ้าง พญ.อัมพร กล่าวว่า การบูลลี่ของเด็กจะแบ่งได้ตามวัย โดยวัยเด็กอาจเป็นเรื่องสีผิว อ้วน ผอม เมื่อโตขึ้น เด็กต้องการการยอมรับ ก็อาจถูกบูลลี่เรื่องความแตกต่างด้านฐานะ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ในโรงเรียน เช่น บางคนนำกล่องข้าวมากิน ก็ถูกล้อเลียนได้ จากนั้น จะเป็นวัยของความสวยความงาม ความดูดีของร่างกาย การประสบความสำเร็จในแต่ละด้าน การเรียน การแข่งขัน ความสนใจทางเพศ โดยจะมาตามช่วงวัย สำหรับสัญญาณเตือนภัยที่เด็กแสดงออกให้ผู้ใหญ่รับรู้ว่าอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายของการถูกบูลลี่ นั้น เนื่องจากเด็กมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว บางครั้งเราเห็นเด็กร่าเริง แต่ก่อนหน้านั้น เด็กอาจส่งสัญญาณบางอย่าง เช่น มีเรื่องสำคัญที่อยากเล่าให้ฟัง แต่ผู้ใหญ่ให้เล่าภายหลัง ซึ่งเป็นการมองข้ามสัญญาณเตือนภัยด้วยความไม่เข้าใจ พฤติกรรมเด็กที่สังเกตได้ คือ การเรียนตก ปรับตัวกับเพื่อนไม่ได้ ตัดพ้อถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง พฤติกรรมก้าวร้าวอย่างออกนอกหน้า การแยกตัวไม่สุงสิงกับใคร การระเบิดอารมณ์เป็นระยะๆ ในครองครัว เป็นสัญญาณเตือนว่า เด็กไม่มีความสุข แต่จะเป็นสาเหตุเพราะถูกบูลลี่หรือสาเหตุอื่น ก็ต้องค้นหากันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image