‘ส.ก.ดินแดง’ ลั่น ทำงานด้วยกันไม่ได้! อัด ขรก.ไม่แก้ปัญหา อิจฉาเขตข้างๆ จี้ ‘ชัชชาติ’ ประเมินผลงาน

‘ส.ก.ดินแดง’ อัดข้าราชการเขตดินแดง 5 เดือนผ่านไปไม่แก้ปัญหาที่เสนอ ยันทำงานร่วมกันไม่ได้แล้ว จี้ ‘ชัชชาติ’ ประเมินตามนโยบาย 3 เดือน

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุม สภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1 ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย นั่งเป็นประธานสภา กทม. พร้อมด้วยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครทั้งคณะ ทีมคณะที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. คณะเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ร่วมประชุม

ในตอนหนึ่ง นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง พรรคพลังประชารัฐ หารือผ่านประธานสภา กทม.ไปยังผู้ว่าฯกทม. ในเรื่องของการทำงานในพื้นที่ของตนเอง โดยขอยืมคำพูดของนายชัชชาติมากล่าวในที่นี้ ซึ่งระบุว่าเป็นคำพูดที่น่ารัก

“เพื่อนข้าราชการของท่านทุกสำนักงานเขตที่ท่านได้กล่าว ดิฉันไม่แน่ใจว่าเพื่อนข้าราชการที่ท่านส่งไปเป็นหูเป็นตาเป็นไม้เป็นมือแทนท่านในแต่ละสำนักงานเขต ท่านปฏิบัติงานเหมือนเพื่อนของท่านผู้ว่าฯหรือเปล่า” นางอนงค์กล่าว

นางอนงค์ยกตัวอย่างความว่า ในพื้นที่ในเขตดินแดงมีเพื่อนข้าราชการมาดำรงตำแหน่งได้ 5 เดือนแล้ว แต่เป็น 5 เดือนที่สูญเปล่า ตนเองมาจากการเลือกตั้ง รับปัญหาจากพี่น้องในพื้นที่ ไปหารือกับเพื่อนข้าราชการ 5 เดือนแล้วยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังไม่มีปัญหาที่ถูกแก้ไขตามที่ตนนำเสนอเป็นรูปธรรม และที่สำคัญที่สุดคือการทำงานของทุกสำนักงานเขตต้องประกอบด้วยการมีงบประมาณ โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ไขปัญหาท่อน้ำตัน ถนนไม่ดี จนทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างถนนประชาสุข จนเด็กลงไปเล่นน้ำได้ ตนเองได้นำเสนอปัญหาที่ตนได้รับร้องเรียนมาจากคนในพื้นที่ แต่ปัญหาทุกปัญหาต้องมีงบประมาณในการทำงาน เพื่อนของผู้ว่าฯไม่เคยบรรจุเรื่องที่ตนร้องเรียนลงในการของบประมาณตั้งแต่งบประมาณเพิ่มเติมซึ่งจะเข้าสภาในวันนี้ ตนได้เปิดดูในเอกสารที่สภาส่งให้หลายรอบก็ไม่พบ คิดว่าคำของบประมาณในปี 2567 คงจะมี แต่ตนเองไม่มีส่วนรับรู้เลย ไม่มีส่วนในการบรรจุปัญหาของคนในพื้นที่ให้ได้รับการแก้ไข มันเกิดอะไรขึ้นในสำนักงานเขตที่ตนต้องดูแลประชาชนถึงกว่า 120,000 คน และประชากรส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ของการเคหะ เป็นแฟลต ซึ่งมีแฟลตทั้งหมด 150 หลัง เป็นทั้งแฟลตของการเคหะและแฟลตของหน่วยงานอื่นๆ ที่ อยู่ในพื้นที่ เมื่อนำปัญหาไปหารือกับเพื่อนข้าราชการของผู้ว่าฯ คำตอบที่ได้รับคือ “ต้องทำให้เขาด้วยเหรอ” และบังเอิญว่าในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบมีตลาดใหญ่ 2 แห่งก็อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของการเคหะเช่นกัน แต่เมื่อนำเสนอให้เพื่อนข้าราชการฟัง คำตอบที่ได้รับก็เหมือนเดิม เพื่อนข้าราชการของผู้ว่าฯอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ว่าประชากรจะอยู่ในพื้นที่ตรงไหน เขาก็คือ 1 ในพื้นที่เสียภาษีให้ กทม. ไม่คิดจะตอบแทนเขาบ้างเลยหรือ?

Advertisement

นางอนงค์กล่าวต่อว่า ตนชอบนโยบายของนายชัชชาติในเรื่องของการบริหารที่ดี ข้าราชการต้องหันหน้าให้กับประชาชน ในคำของบประมาณปี 2567 ตนได้เตรียมงานไว้มากมายเพื่อจะทำงานร่วมกับสำนักงานเขต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนโยบาย เรื่องเศรษฐกิจ การทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดี เช่น จัดให้มีการท่องเที่ยว 1 เขต 1 โครงการ แต่ 5 เดือนแล้วเห็นอะไรบ้าง

“รู้สึกอิจฉาเพื่อนเขตข้างๆ ตรุษจีนเห็นเขาอึกทึกครึกโครมมโหฬาร เรื่องนี้สำนักงานเขตบอกว่า ‘ผมไม่รู้จะทำตรงไหน เพราะเป็นเขตใหม่ ยังไม่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์’ จึงอยากบอกว่าคนที่ผู้ว่าฯส่งลงไปมีวิสัยทัศน์หรือไม่ในการที่จะพัฒนาพื้นที่ เป็นหูเป็นตา เป็นไม้เป็นมือแทน

“ดิฉันอยากเรียนถามท่านผู้ว่าฯผ่านท่านประธาน ดิฉันเคยได้ยินท่านบอกว่าท่านส่งคนลงไปทำงาน ถ้าไม่ผ่าน 3 เดือน ท่านก็ต้องเปลี่ยน นโยบายนี้ท่านยังคงอยู่ไว้ไหม 5 เดือนที่สูญเปล่า ไม่ได้อะไรกลับมาเลย ท่านพิจารณาอย่างไร ดิฉันว่า 5 เดือนเพื่อนของท่านยังไม่รู้จักพื้นที่ทั้งหมดดีพอ อีกทั้งดิฉันไม่แน่ใจว่าในสำนักงานที่ท่านดูแล ท่านเดินทั่วไหม เคยลงไปพูดคุยกับเพื่อนพ้องน้องพี่หรือผู้ร่วมงานของท่านบ้างไหม ดิฉันขอเรียนย้ำถามท่านผู้ว่าฯอีกครั้งหนึ่งว่า สิ่งที่ท่านพูดไว้ถ้า 3 เดือนแล้วไม่ผ่าน ท่านก็ต้องเปลี่ยน ตรงนี้ถ้าดิฉันยืนยันว่าดิฉันทำงานร่วมกับเพื่อนของท่านคนนี้ไม่ได้แล้ว ดิฉันอยากพัฒนาพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านแสงสว่าง ซึ่งให้ความปลอดภัยกับคนในพื้นที่ …ดิฉันยืนยัน ถ้าท่านไม่เปลี่ยนแปลง ดิฉันก็จะมาหารือท่านบ่อยๆ” นางอนงค์กล่าว

Advertisement

จากนั้นนายวิรัตน์ ประธานสภา กทม. กล่าวว่า เรื่องข้อหารือดังกล่าวจะให้สำนักงานเลขานุการสภาทำหนังสือถึงนายชัชชาติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image