สธ.จับมือ กรมปศุสัตว์-อุทยานฯ เฝ้าระวังไข้หวัดนก เข้มคัดกรองคนเข้าไทย

สธ.จับมือ กรมปศุสัตว์-อุทยานฯ เฝ้าระวังไข้หวัดนก เข้มคัดกรองคนเข้าไทย

วันนี้ (3 มีนาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมประกาศเจตนารมย์ในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคไข้หวัดนก (H5N1) ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health)

นพ.ธเรศ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประชุมได้มีการพิจารณาเตรียมการเรื่องไข้หวัดนก ตามที่มีข่าวการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง 3 หน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนมีการเตรียมการ เฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง อย่างของกรมควบคุมโรค ได้มีการเฝ้าระวังการระบาดมาสู่คน โดยขณะนี้มีการเฝ้าระวังป้องกันคนป่วย มีกลไกด่านควบคุมโรคชายแดน หากพบผู้ป่วย หรือมีอาการปอดบวม มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกต้องมีการตรวจสอบ สอบสวนโรค รวมไปถึงการเตรียมยาคุรุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้เรามียาโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำรองไว้หากพบผู้ป่วยในประเทศไทย รวมไปถึงการขอความร่วมมือสถานพยาบาลในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด

“ขอให้มั่นใจ สธ.มีความพร้อม จากการเฝ้าระวังยังไม่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม เราได้มีการประชุมกัน ซึ่งจะมีการทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติสอบสวนโรค การรักษา โดยสัปดาห์หน้าจะมีการซักซ้อมกันกับทางโรงพยาบาล รวมทั้งจะมีการซ้อมในระดับพื้นที่ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการของผู้ป่วยไข้หวัดนก นพ.ธเรศ กล่าวว่า มีไข้หวัด ระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ปอดบวม แต่ประเด็นสำคัญต้องมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก สัตว์ป่วย โดยรวมเรามีวางระบบไว้แล้ว ขอย้ำว่า ยังไม่พบผู้ป่วยเข้าข่ายไข้หวัดนกเลย อย่างไรก็ตาม จังหวัดทางภาคตะวันออกได้ร่วมกับด่านควบคุมโรคซักซ้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ รวมไปถึงคนป่วยด้วย

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องคัดกรองเข้มเฉพาะประเทศที่มีการระบาดไข้หวัดนกหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ยังไม่ต้อง โดยขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 โดยเน้นเฝ้าระวังคัดกรอง หากเราพบก็จะเป็นการสืบสวนสอบสวนโรค แต่ปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วย

“ขณะนี้กัมพูชาพบผู้ป่วย 2 ราย ซึ่ง ณ เวลานี้ สถานการณ์ถือว่าควบคุมได้ ไม่มีการระบาดทั้งคนและสัตว์” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement

ด้าน นสพ.สมชวน กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเคสที่พบในกัมพูชาจะอยู่ไปทางพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ของไทย ซึ่งเรามีระบบการเฝ้าระวัง อย่าง นกอพยพ เป็ดไล่ทุ่ง รวมไปถึงผู้ที่เลี้ยงสัตว์ปีก โดยกรมปศุสัตว์มีระบบการเฝ้าระวังต่อเนื่องทุกปี มีการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ 8 แห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงการประสานงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาปศุสัตว์ ฯลฯ ในการเฝ้าระวังหากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ เช่น ตายกระทันหัน อาการชัก คอบิด หงอนสีดำคล้ำ มีอาการระบบทางเดินหายใจ หากพบสิ่งเหล่านี้ให้รีบแจ้งผ่านเครือข่าย เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคระบาดสัตว์ หากพื้นที่ไหนมีเหตุสงสัยเราสามารถทำลายสัตว์ปีกนั้นๆ บริเวณรัศมีโดยรอบได้ เพื่อเป็นการป้องกันดีกว่าแก้ไข

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาเคยมีรายงานพบสัตว์ป่วยไข้หวัดนกหรือไม่ นสพ.สมชวน กล่าวว่า ไม่เคยมีรายงานพบโรคในสัตว์ อย่างไรก็ตาม เรามีมาตรการเฝ้าระวังต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงปลอดโรคไข้หวัดนก

ขณะที่ นายอรรถพล กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะรับผิดชอบป้องกันการแพร่ระบาดจากสัตว์ป่า รวมถึงนกอพยพ มีสัตวแพทย์ไปเก็บข้อมูลต่อเนื่อง โดยสัตว์ปีกทั้งหมด รวมถึงค้างคาว ซึ่งเรามีระบบติดตาม ไม่ต้องกังวล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image