‘ฝุ่นแดง-ฝุ่นเหล็ก’ คืออะไร ถ้าโดนรังสีซีเซียม-137 จะเป็นยังไง? สธ.ยันอยู่ที่ความเข้มข้น

ฝุ่นแดง หรือฝุ่นเหล็ก จำนวน 12.4 ตัน บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊ก 16 ถุง ที่โรงงานใน จ.ระยอง รับมาจากโรงหลอมเหล็ก จ.ปราจีนบุรี เพื่อรีไซเคิล

‘ฝุ่นแดง-ฝุ่นเหล็ก’ คืออะไร? ถ้าโดนรังสี ‘ซีเซียม-137’ จะเป็นยังไง? สธ.ยันอยู่ที่ความเข้มข้น-ระยะเวลาสัมผัส

แม้ “ผู้ว่าฯปราจีนบุรี” พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงยืนยันช่วงสายวันที่ 20 มีนาคม ถึงการพบ วัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าใน จ.ปราจีนบุรี แล้ว เบื้องต้นพบสาร “ซีเซียม-137” ที่ผสมอยู่ใน “ฝุ่นเหล็ก” หรือ “ฝุ่นแดง” ที่ระเหยจากการหลอม และอยู่ในระบบปิด เบื้องต้นไม่มีการรั่วไหลออกไปภายนอก

ทั้งนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบว่าเป็น “ซีเซียม-137” ที่ทุกฝ่ายตามหากันหรือไม่ เนื่องจากการค้นพบอยู่ใกล้เคียงกับจุดสูญหาย และสาร “ซีเซียม-137” ที่พบ มิได้เกิดจากธรรมชาติ

ซีเซียม-137

เปิดความหมาย ‘ฝุ่นเหล็ก-ฝุ่นแดง’

“มติชนออนไลน์” พาไปทำความรู้จัก “ฝุ่นเหล็ก” หรือ “ฝุ่นแดง” โดยอ้างอิง รายงานเทคโนโลยีการรีไซเคิลฝุ่นเหล็ก โครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการนําวัสดุเหลือใช้และกากของเสียมาใช้ประโยชน์ ของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่อธิบาย “ฝุ่นเหล็ก” ว่าเป็นผลพลอยได้อย่างหนึ่งจากการหลอมรีไซเคิลเศษเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า ฝุ่นเหล็กประกอบด้วยโลหะเจือปนหลักที่สามารถนํากลับมาได้ ได้แก่ สังกะสีและเหล็ก โลหะทั้งสองชนิดจับตัวในรูปของสารประกอบซิงค์เฟอร์ไรท์

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีโลหะหนักอื่นๆ เจือปนอยู่อีกด้วย อาทิ ตะกั่ว แคดเมียม นิกเกิล และโครเมียม เป็นต้น ซึ่งได้จากการหลอมรีไซเคิลเหล็กกล้าไร้สนิมและเหล็กเครื่องมือ รวมทั้งเศษเหล็กใช้แล้วต่างๆ

“ฝุ่นเหล็ก” จัดอยู่ในกลุ่ม กากของเสียอันตราย K061 เพราะมีโลหะหนักเจือปนอยู่มากกว่าที่มาตรฐานกําหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะกั่ว กรรมวิธีการสกัดนําเอาโลหะออกจากฝุ่นเหล็กแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.การใช้ความร้อน (Pyrometallurgy) และ 2.การใช้ตัวทําละลาย (Hydrometallurgy)

ฝุ่นแดง หรือฝุ่นเหล็ก จำนวน 12.4 ตัน บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊ก 16 ถุง ที่โรงงานใน จ.ระยอง รับมาจากโรงหลอมเหล็ก จ.ปราจีนบุรี เพื่อรีไซเคิล

เช่นเดียวกับเอกสารของ น.ส.วารี ลิ้มพัฒนสกุล เรื่อง การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำฝุ่นแดงจากเตาหลอมเหล็กไฟฟ้าประยุกต์ใช้แทนแม่สีในสีรองพื้นกันสนิม ทั้งนี้ วิชาการค้นคว้าอิสระเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการสิ่งแวดล้อม) คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ.2555

Advertisement

น.ส.วารีระบุในบทคัดย่อว่า “ฝุ่นแดง” เป็นกากของเสียที่เกิดจากกระบวนการหลอมเหล็กในเตาหลอมไฟฟ้า EAF ตามรหัสของเสียอันตราย K061 ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ เพราะมีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ จำพวกเหล็กออกไซด์และสังกะสีออกไซด์

ปัจจุบันฝุ่นแดงถูกจัดการโดยส่งเผา ฝังกลบ และนำไปถมที่ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ฝุ่นแดงมีธาตุองค์ประกอบของเหล็กและสังกะสีที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐศาสตร์ได้

สธ.เผยความรุนแรงรับรังสี ‘ซีเซียม-137’

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ให้ข้อมูลว่า ความรุนแรงจากการรับรังสี “ซีเซียม-137” ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส หากสัมผัสโดยตรงจะเกิดการบาดแผลไหม้จากรังสี เช่น ผิวหนังมีตุ่มน้ำพอง เป็นแผล หรือเนื้อตายได้ เกิดอาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ

ส่วนผลระยะกลางและระยะยาว จะส่งผลต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเส้นผม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.

เบื้องต้น ได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขฉุกเฉินประสานผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยจากกัมมันตรังสีจัดทำแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุกและแจ้ง สสจ.ทั่วประเทศดำเนินการ พร้อมประสานจัดสิ่งสนับสนุน เช่น เครื่องตรวจวัดรังสีเพิ่มเติม ชุดป้องกัน หน้ากากอนามัยชนิดกันอนุภาค รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพประสานคลินิกเอกชนทั่วประเทศ ร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยอาจเกิดจากการได้รับรังสีด้วย

ผู้เชี่ยวชาญเผย ‘ความอันตราย’
หากฝุ่นขนาดเล็กซีเซียม-137 กระจายสู่บรรยากาศ

ขณะที่ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความรู้กรณี “ซีเซียม-137” ทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ถ้าแท่งโลหะที่บรรจุซีเซียม-137 ถูกหลอมรวมกับเศษเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กแล้ว ผลกระทบที่ตามมาคือ

ฝุ่นขนาดเล็กของซีเซียม-137 ที่ปล่อยออกมาจากปลายปล่องจะกระจายสู่บรรยากาศและตกลงสู่แหล่งน้ำ ดินที่อยู่รอบๆ โรงงาน และเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหาร ได้แก่ ผัก ผลไม้ อาหารจากแหล่งน้ำใกล้เคียงและอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้น รวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย

สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ บางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ, ตับ, ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมาก หรือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซม คือเป็น “มะเร็ง” นั่นเอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image