เปิดไทม์ไลน์ ‘ซีเซียม-137’ หายในปราจีนบุรี 19 มี.ค.พบแล้ว รังสีไม่กระจายสิ่งแวดล้อม

เปิดไทม์ไลน์ การแก้ปัญหาสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ หลังรับแจ้งสูญหายในปราจีนบุรี

ข่าววัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดระดับขี้เถ้าในโซโล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว หนัก 25 กิโลกรัม หายไปจาก บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ใน นิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี สร้างความตกใจกับประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าบริษัทก็ไม่รู้ว่า “ซีเซียม-137” หายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ หายไปได้อย่างไร และขณะนี้จะไปอยู่ที่ไหน

กระทั่งเย็นวันที่ 19 มีนาคม มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือตรวจสอบพบสาร “ซีเซียม-137” แล้ว มีการสั่งปิดพื้นที่ไม่ให้ใครเข้า-ออก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีจะแถลงข่าววันที่ 20 มีนาคม เวลา 11.00 น.

“ซีเซียม-137” วัสดุกัมมันตรังสีที่หายไปอย่างปริศนาจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี

“มติชนออนไลน์” รวบรวมไทม์ไลน์การตามหาวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ดังนี้

Advertisement

วันสูญหาย : ไม่แน่ชัด

14 มีนาคม : พ.ต.อ.มงคล โท้เป๋า ผกก.สภ.ศรีมหาโพธิ ระบุว่า บริษัททราบว่า “ซีเซียม-137” หายไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แต่มาแจ้งความวันที่ 10 มีนาคม เบื้องต้นมีการตั้งรางวัล 50,000 บาท สำหรับผู้แจ้งข้อมูลจนนำไปสู่การติดตามวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” กลับคืนมาได้

15 มีนาคม : ยังไม่พบ “ซีเซียม-137” ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ พร้อมประสานโรงพยาบาล กรณีรับ-ส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี และให้ สสจ.ปราจีนบุรี ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

16 มีนาคม : ผู้ว่าฯปราจีนบุรีเผยว่า ระดมทุกภาคส่วนติดตามค้นหาอย่างเข้มข้น แต่ยังไม่ได้รับแจ้งกลับมา เมื่อค้นหาในโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงช่วง 2 กม.อีกครั้งก็ “ยังไม่ได้เบาะแส” นอกจากนี้ ได้ตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่าทั้งในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงก็ “ยังไม่พบ” รวมถึงใช้ “โดรน” บินจับสัญญาณกัมมันตรังสี พบว่า ยังไม่มีการแพร่กระจาย ทั้งนี้ มีการปรับตัวเลขรางวัลเป็น 100,000 บาทแล้ว

ปรับตัวเลขรางวัลจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท

17 มีนาคม : ยังไม่พบ “ซีเซียม-137” โดย ดร.กิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า ส่งเจ้าหน้าที่ปูพรมค้นหาในโรงงานจนแน่ใจประมาณ 70-80% ว่าไม่เจอ นอกจากนี้ ยังใช้ “รถ” วิ่งในชุมชนเพื่อสำรวจระดับปริมาณรังสี ณ ปัจจุบันนี้ระดับรังสียังอยู่ในสภาวะปกติ

18 มีนาคม : มีผู้แจ้งเบาะแส “ซีเซียม-137” จำนวนมาก อาทิ ได้รับแจ้งจาก จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่จึงไปตรวจสอบ พบว่า “ไม่ใช่” เป็นเพียงท่อเหล็กธรรมดา, ร้านล้างรถแจ้งพบท่อเหล็กลักษณะคล้ายซีเซียม-137 เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรถและเจ้าของแล้ว “ไม่ใช่” เช่นกัน

19 มีนาคม : ระดมค้นหา “ซีเซียม-137” อย่างต่อเนื่อง ทั้งเดินเท้าสำรวจในและนอกโรงงาน ใช้คลื่นสัญญาณตรวจหาสารกัมมันตรังสี ตรวจโรงรับซื้อของเก่า โรงหลอมเหล็ก สอบปากคำคนในโรงงาน ร้านรับซื้อของเก่า ประชาชน ดูกล้องวงจรปิดประกอบกัน แต่ “ยังไม่พบ”

กระทั่ง ช่วงค่ำวันที่ 19 มีนาคม มีรายงานว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจรังสีในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เลขที่ 518/1 หมู่ 9 ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี, บริษัท เค ที พี สตีล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี, บริษัท ที เอส บี เหล็กกล้า จำกัด เลขที่ 502 หมู่ 9 ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ และบริษัท สิงห์ไทย สตีล จำกัด เลขที่ 122 หมู่ 11 ต.หัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ

  • ปส.ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ไอโซโทปรังสีในการตรวจสอบเพื่อใช้สำรวจปริมาณรังสีและวิเคราะห์ชนิดของสารกัมมันตรังสีจากวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นสารกัมมันตรังสีหรือวัตถุที่อาจมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หรือไม่
  • ผลการตรวจสอบพบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่งมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากผลิตโลหะ
  • ผู้เชี่ยวชาญของ ปส.ควบคุมและตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยรอบ พบว่าโลหะที่ได้จากกระบวนการผลิตไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137
  • ตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่บริเวณโรงงานพบว่า ระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ นอกจากนี้ มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ บริเวณโดยรอบโรงงานพบว่า ระดับรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม

20 มีนาคม : ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงกรณี “ซีเซียม-137” สูญหาย ยืนยันว่าการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิล ที่รับซื้อเศษโลหะมือสองที่มีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และเมื่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอม ซีเซียม-137 จะถูกหลอมและระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม ซึ่งจะมีระบบการกรองของเสียจากกระบวนการผลิตและเป็นการทำงานในระบบปิดทั้งหมด ทำให้ซีเซียม-137 จะปนเปื้อนไปอยู่ในฝุ่นโลหะที่ได้จากกระบวนการหลอม ซึ่งฝุ่นปนเปื้อนเหล่านี้จะมีระบบกรองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และถูกจัดเก็บ ควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด ดังนั้นฝุ่นโลหะปนเปื้อนได้ถูกระงับการเคลื่อนย้ายและจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน

20 มีนาคม 2566 ผู้เกี่ยวข้องร่วมแถลงความคืบหน้าพบ “ซีเซียม-137” แล้ว
  • ปส.ตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีนอกร่างกายของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานแต่อย่างใด
  • สรุปได้ว่าฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง
  • ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และสถานการณ์ทั้งหมดได้ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image